ทริสแจ้งตลาดฯยกระดับเครดิต"ทีพีไอโพลีน"ขึ้นไปที่ BBB-

ข่าวทั่วไป Thursday April 22, 2004 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--โอเอซิส มีเดีย
ทริสแจ้งตลาดฯยกระดับเครดิต"ทีพีไอโพลีน"ขึ้นไปที่ BBB- ชี้เพิ่มทุน11,000ล้านสำเร็จเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงสถานการเงินดีขึ้น
ทริส แจ้งตลาดฯปรับอันดับเครดิตทีพีไอโพลีนใหม่ ขึ้นมาอยู่ที่ BBB- จากสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น จากผลการระดมทุนเพิ่ม 11,000 ล้านบาท รวมถึงปัจจัยบวกด้านอื่น ทั้งความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศที่มากขึ้น รวมถึงความเป็นผู้นำในการผลิตเม็ดพลาสติก Low Densily Polyethylene ( LDPE )
รายงานข่าวจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า วันที่ 21 เมษายน 2547 ที่ผ่านมา ทริสได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลการจัดอันดับองค์กร บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ( TPIPL) ใหม่ โดยปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ BBB- แทนอันดับเครดิตองค์กรแบบมีเงื่อนไขเดิม โดยเหตุผลมาจากการที่ TPIPL ได้ทำการเพิ่มทุน 11,000 ล้านบาทเมื่อเดือนมกราคม 2547 ที่ผ่านมา เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาทบทวนการจัดอันดับ ซึ่งเป็นการแสดงถึงสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น
มีปัจจัยที่จะส่งผลด้านบวกต่อผลประกอบการของ TPIPL ด้านอื่น คือ ความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลมาจากการฟื้นตัวของโครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.59 % ในปี 2545 มาเป็น 23.35 % ในปี 2546 นอกจากนี้ภายหลังการเพิ่มทุน สัดส่วนของเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็ได้ปรับตัวลดลงจาก 77 % ณ สิ้นปี 2546 มาอยู่ที่ต่ำกว่า 60 % ในปีนี้ สำหรับปัจจัยบวกอีกประการหนึ่ง คือ การที่ TPIPL มีความเป็นผู้นำในการผลิตเม็ดพลาสติก Low Densily Polyethylene ( LDPE ) ที่ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคลือบผิว ซึ่งภาวะความต้องการในประเทศได้เติบโตและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากการลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งเป็นผลทำให้ค่าเงินบาทของไทยลดลง ประกอบกับความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศที่ตกต่ำลงนับแต่ภาวะวิกฤตที่ส่งผลกระทบโดยรวมทั่วเอเชียในปี 2540 ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและการชำระหนี้ของ TPIPL ตั้งแต่ปี 2540 และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2543 ซึ่ง TPIPL ได้ลงนามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับเจ้าหนี้ รวมทั้งเข้าสู่กระบวนการซื้อหนี้คืนในปีเดียวกัน ซึ่งภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดภายในเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2547 โดยบริษัทได้ขอขยายเวลาออกไปได้ 3 ปี
นอกจากนี้ในฐานะที่ TPIPL เป็นผู้บริหารแผนจะต้องระดมทุนได้อย่างน้อย 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อหนี้คืนจำนวน 219.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ซึ่งต่อมาได้มีการขยายเวลาถึง 24 สิงหาคม 2544 โดยดอกเบี้ยค้างจ่ายนับถึง สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2542 คิดเป็นจำนวน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะได้รับการแปลงสภาพเป็นทุน อย่างไรก็ตามภายใต้กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาล อยู่ระหว่างการที่ TPIPL ทำการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยกเว้นดอกเบี้ยค้างจ่ายดังกล่าว แทนการแปลงสภาพให้เป็นทุน
อย่างไรก็ดีแม้จะไม่สามารถระดมทุนได้ภายในระยะเวลากำหนดดังกล่าว แต่ TPIPL ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยสำคัญ คือ ประสบความสำเร็จในการระดมทุนจำนวน 11,000 ล้านบาท ( ประมาณ 285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเดือนมกราคม 2547 โดยได้มีการวางเงินจำนวน 5,549 ล้านบาท ไว้ที่ศาลล้มละลายกลาง เพื่อให้เจ้าหนี้มารับคืน ซึ่งเจ้าหนี้บางรายที่ถือว่ากระบวนการซื้อหนี้คืนของบริษัทไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนได้ภายในเวลาที่กำหนด และเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่ต้องการที่จะขายหนี้แบบมีส่วนลดให้แก่ TPIPL แต่ทั้งนี้ประเด็นพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการซื้อหนี้คืน และปัญหาเรื่องสถานะของบริษัทที่จะยังคงความเป็นผู้บริหารแผนอยู่หรือไม่นั้น ขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในกระบวนการไกล่เกลี่ยของศาล--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ