กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
สถานการณ์หมอกควันในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เริ่มจากที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ ขณะนี้ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และที่สำคัญคือผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้างในเวลานี้ ซึ่งคุณภาพอากาศโดยรวมของหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เห็นได้จากรายงานสถิติของหลายจังหวัดพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นป่วยจากโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด และ โรคตาอักเสบ แต่เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มีวิธีการปรับตัวเพื่อป้องกัน และการดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นละอองในอากาศมาฝากทุกคน
ฝุ่นละอองส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
ฝุ่นละอองที่เราเห็นลอยฟุ้งอยู่ในอากาศนั้น มีชื่อเรียกเป็นทางการ นั่นคือ Particulate Matter (PM) ซึ่งอาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในอากาศ เช่น อนุภาคต่างๆ เชื้อโรค ฝุ่นละออง จนทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างเป็นลักษณะหมอก หรือควัน อันตรายจากการสูดดมอนุภาคเหล่านี้ขึ้นอยู่กับขนาด ปริมาณ คุณสมบัติทางเคมี และความเป็นพิษของอนุภาคนั้นๆ ฝุ่นละอองในอากาศมีขนาดตั้งแต่ 500 ไมครอนจนถึง 0.2 ไมครอน ฝุ่นละอองขนาดน้อยกว่า 100 ไมครอนสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้ โดยที่ฝุ่นละอองขนาด 100 ไมครอนอาจแขวนลอยในอากาศได้เพียง 2-3 นาที ในขณะที่ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 0.5 ไมครอนอาจแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นปี โดยทั่วไปเราจะวัดน้ำหนักของฝุ่นละอองในอากาศที่ปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร โดยแสดงเป็นค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปนี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ตารางที่ 1 แสดงค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป
ขนาดของฝุ่นละอองในอากาศ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นในเวลา ค่ามาตรฐาน
(มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
? 100 ไมครอน (PM100) 24 ชั่วโมง ? 0.33
1 ปี ? 0.10
? 10 ไมครอน (PM10) 24 ชั่วโมง ? 0.12
1 ปี ? 0.05
? 2.5 ไมครอน (PM2.5) 24 ชั่วโมง ? 0.05
1 ปี ? 0.025
หมายเหตุ: เทียบขนาด 1,000 ไมโครกรัม เท่ากับ 1 มิลลิกรัม; เทียบขนาด 10,000 ไมครอน (?m) มีเท่ากับ 1 เซนติเมตร หรือขนาดเส้นผมโดยปกติมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 ไมครอน; เทียบปริมาณฝุ่นละอองจากการสูบบุหรี่ 1 มวน มีปริมาณเท่ากับ 0.01 ถึง 0.04 มิลลิกรัม
ภาพแสดงการเปรียบเทียบขนาดของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ กับอนุภาคทรายและเส้นผม (ที่มา ดัดแปลงจาก www.mfe.govt.nz)
ตารางที่ 2 แสดงค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของผลการวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM10) ของภาคเหนือ ณ วันที่ 2 มีนาคม 2555 และวันที่ 6 มีนาคม 2555 เวลา 09.00 น.
จังหวัด PM10
(มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) คุณภาพอากาศ
2 มีนาคม 2555 6 มีนาคม 2555
เชียงราย 0.25 0.18 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
เชียงใหม่ 0.32 0.13 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ลำพูน 0.17 0.13 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ลำปาง 0.18 0.17 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
แม่ฮ่องสอน 0.22 0.17 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
น่าน 0.16 0.14 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
แพร่ 0.19 0.18 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
พะเยา 0.25 0.17 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ตาก 0.27 0.17 มีผลกระทบต่อสุขภาพ
จากตารางข้างต้นแสดงถึงปัญหาฝุ่นละอองของทุกจังหวัดในภาคเหนือมีค่าการวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10) ในอากาศ เกินค่ามาตรฐานคือ 0.12 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ฝุ่นละอองเหล่านี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะแก้ไขให้หมดไปอย่างไร เป็นสิ่งที่เราควรเตรียมความพร้อมด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลเพื่อรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้น
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเราหายใจอากาศที่มีฝุ่นละออง
ระบบทางเดินหายใจแบ่งเป็นส่วนบนและส่วนล่าง ตั้งแต่โพรงจมูกและช่องปาก ผ่านช่องคอ กล่องเสียงหลอดลมใหญ่ หลอดลมฝอย ไปจนถึงถุงลมปอดซึ่งเป็นส่วนปลายสุดของทางเดินหายใจ อนุภาคในอากาศสามารถกระจายเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินหายใจได้ 4 วิธี คือ
1. Interception คือ การสัมผัสกับผิวเยื่อบุทางเดินหายใจโดยตรง ได้แก่อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน
2. Impaction คือ การเคลื่อนที่ไปตามทิศทางของลมหายใจ ได้แก่อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน
3. Sedimentation คือ การตกลงตามแรงโน้มถ่วง ได้แก่อนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 ไมครอน
4. Diffusion คือ การแพร่กระจาย สำหรับอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ไมครอน
ตารางที่ 3 แสดงขนาดอนุภาคและวิธีเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
(Adapted from: Klassen et al, 1991 Casarett and Doull's Toxicology: the basic science of poisons,
6th edition. p. 500)
ขนาดอนุภาค ตำแหน่งของระบบทางเดินหายใจ
ที่ได้รับอนุภาค วิธีที่อนุภาคเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ *ผลกระทบจาก ความเร็วของอากาศ
> 10 ไมครอน โพรงจมูกและช่องคอ Impaction, Interception ++++
0.003 — 5 ไมครอน หลอดลมใหญ่จนถึงถุงลมปอด Sedimentation +
< 0.5 ไมครอน ถุงลมปอด Diffusion 0
หมายเหตุ : * ++++ ต้องอาศัยความเร็วของอากาศในการเคลื่อนที่ในทางเดินหายใจมาก
0 ไม่ต้องอาศัยความเร็วของอากาศในการเคลื่อนที่ในทางเดินหายใจ
ระบบทางเดินหายใจมีกระบวนการมากมายที่ใช้ป้องกันอนุภาคขนาดเล็ก เมื่อเราหายใจฝุ่นละอองทั้งหมด จะไม่สามารถเข้าสู่ปอด มีเพียงฝุ่นละอองบางส่วนที่ผ่านการกรองที่จมูกเข้าไปได้เท่านั้น เมื่อเข้าไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีระบบเมือก (mucus) และซิเลีย (cilia) ที่คอยดักจับอนุภาคแปลกปลอม และขับออกมาในรูปของ เสมหะ หรือการไอ อย่างไรก็ตามยังมีฝุ่นละอองบางส่วนที่สามารถเข้าถึงถุงลมปอด (alveoli) ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถึงกระนั้นภายในถุงลมฝอย ก็ยังมีเม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟาจ (macrophage) ที่ช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาและขับสิ่งแปลกหลอมเหล่านั้นออกโดยการโบกพัดของซิเลีย ยกตัวอย่างกลุ่มผู้ทำงานในเหมืองถ่านหินซึ่งสูดดมฝุ่นละอองมากถึง 1,000 กรัม (1 กิโลกรัม) ตลอดชีวิตการทำงาน แต่เมื่อทำการชันสูตรเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วพบว่ามีฝุ่นละอองอยู่ภายใน ปอดเพียง 40 กรัม จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าร่างกายมนุษย์สามารถกำจัดฝุ่นละอองออกจากปอด ได้มากในระดับหนึ่ง
ฝุ่นละอองในอากาศมีทั้งชนิดที่เป็นอินทรีย์และอนินทรีย์ ทั้งนี้ขึ้นกับแหล่งที่มาของฝุ่นละออง ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ความอันตราย ซึ่งอันตรายจากฝุ่นละอองในอากาศมักจะหมายถึงการทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ (allergic reaction) การอุดตันจนเกิดปอดอักเสบ (pneumonitis) และการเกิดพังผืดในปอด (fibrosis) ซึ่งส่วนมากเป็นอนินทรีย์สาร แต่จะไม่รวมอันตรายที่เกิดจากกลุ่มอินทรีย์สารที่เป็นกลุ่มโรคหรือสารพิษ เช่น เชื้อวัณโรค เชื้อแอนแทรกซ์ เชื้อไวรัสหัด เชื้อไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) เชื้อราชนิด Histoplasmosis หรือสารอินทรีย์เคมี เช่นยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภายในร่างกาย เริ่มตั้งแต่เกิดอาการแพ้หรืออักเสบในโพรงจมูก โพรงไซนัส ช่องคอ และหลอดลม จนทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด เนื่องจากเมื่อฝุ่นละอองเข้าไปถึงส่วนที่อยู่ลึกที่สุดของทางเดินหายใจ ซึ่งก็คือ ถุงลมปอด เมื่อฝุ่นละอองสะสมเป็นปริมาณมากเกินกว่าความสามารถที่มาโครฟาจ จะกำจัดออกไปได้ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อปอด จนเกิดเป็นโรคปอดอักเสบ เมื่อเป็นเรื้อรังก็จะทำให้เกิดพังผืด หรือเกิดรอยแผลเป็นภายในปอดได้ ปัจจัยที่มีผลต่อปฏิกิริยาเหล่านี้ได้แก่ ปริมาณ ขนาด ชนิดของฝุ่นละออง รูปแบบการหายใจ อัตราการหายใจ และระยะเวลาที่หายใจอากาศที่มีฝุ่นละอองเหล่านี้
ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละออง หมอกควันได้ มีคำแนะนำง่ายๆ ที่ได้ผลคือ ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิดกรอง 3 ชั้น ซึ่งจะช่วยป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่สามารถกรองฝุ่นละอองที่มีขนาดตั้งแต่ 0.3 ไมครอนได้
หน้ากากอนามัยชนิดกรอง 3 ชั้น
ภาวะปอดเป็นฝุ่น (Dusty lung หรือ Pneumoconiois)
เป็นภาวะที่ปอดถูกทำลายจากฝุ่นละออง แบ่งเป็นชนิดที่ทำให้ปอดเกิดพังผืด (Fibrosis) และชนิดที่ทำให้ปอดขาดความยืดหยุ่นเพียงอย่างเดียว (Stiff and lost elasticity) ฝุ่นละอองแต่ละชนิดจะทำลายปอดในลักษณะ ที่แตกต่างกัน เมื่อปอดถูกทำลายจะเสียสภาพความยืดหยุ่น และขาดประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนก๊าซอย่างถาวร มีผลกระทบต่อเนื่องต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา
ตารางที่ 4 แสดงลักษณะการทำลายปอดโดยฝุ่นละอองชนิดต่างๆ
ฝุ่นละอองอินทรีย์ ชื่อโรคเฉพาะ ผลพยาธิสภาพที่ปอด
Mouldy hay straw and grain Farmer’s lung เกิดพังผืด
Dropping and feathers Bird Francier’s lung เกิดพังผืด
Mouldy sugar can Bagassosis เกิดพังผืด
Compose dust Mushroom worker’s lung ไม่เกิดพังผืด
Dust of mist Humidifier fever ไม่เกิดพังผืด
Dust of heat-treated sludge Sewage sludge disease ไม่เกิดพังผืด
Mould dust Cheese washers’ lung ไม่เกิดพังผืด
Dust of dander, hair particle Animal handlers’ lung ไม่เกิดพังผืด
ฝุ่นละอองอนินทรีย์
Asbestos Asbestosis เกิดพังผืด
Silica (Quartz) Silicosis เกิดพังผืด
Coal Coal pneumoconiosis เกิดพังผืด
Beryllium Beryllium disease เกิดพังผืด
Tungsten carbide Hard metal disease เกิดพังผืด
Iron Siderosis ไม่เกิดพังผืด
Tin Stannosis ไม่เกิดพังผืด
Barium Baritosis ไม่เกิดพังผืด
การป้องกัน และการดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นละอองในอากาศ
หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีหมอกควันหรือฝุ่นละออง
ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ที่มีหมอกควันหรือฝุ่นละออง ควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดกรอง 3 ชั้นปิดปากและจมูก
ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน และถ้าเป็นไปได้ควรใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง เพื่อสุขลักษณะที่ดี
หากจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองติดต่อกันยาวนาน เช่น เกินกว่าสัปดาห์ หรือเดือน ควรเตรียมความพร้อมด้านการกรองอากาศในที่อยู่อาศัย เช่น ติดระบบกรองอากาศในบ้าน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของฝุ่นต่อร่างกายได้ โดยเลือกใช้ระบบกรองอากาศที่เหมาะสม และสามารถถอดล้างได้
ในระยะยาว สำหรับบริเวณพื้นที่ว่างเปล่า ควรปลูกพืชคลุมหน้าดินไว้ เพื่อลดโอกาสที่ฝุ่นละอองจะลอยฟุ้งขึ้นมาในอากาศได้
สำหรับ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคความดัน โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม และ พกติดตัว เพื่อป้องกันและใช้รักษาเมื่ออาการกำเริบ
หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
ติดต่อ:
ปานฤทัย คงยิ้มละมัย (ปิงปอง) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลกรุงเทพ
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70