กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และเตรียมเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมแรง โดยตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณชุมชนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง งดใช้เครื่องมือสื่อสารและโทรศัพท์มือถือ และหลีกเลี่ยงสวมใส่อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา เปิดเผยว่าช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคมของทุกปี ประเทศไทยมักประสบพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง และภาคเหนือจะมีสถิติการเกิดพายุฤดูร้อนสูง โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างและเป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา จึงได้เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที รวมถึงออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อน โดยตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณชุมชนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ดูแลผลผลิตทางเกษตร รวมถึงตรวจสอบป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง หากอยู่ในสภาพ
ไม่ปลอดภัยหรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแก้ไขโดยด่วน และในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ให้หลบในอาคารที่มั่นคงแข็งแรง ไม่หลบใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างหรือป้ายโฆษณา เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับ หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ให้ห่างจากสื่อนำไฟฟ้า งดใช้เครื่องมือสื่อสารและโทรศัพท์มือถือ ไม่สวมใส่อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทั้งเงิน ทองแดง นาก ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างเด็ดขาด เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ทั้งนี้ หากประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป