กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการรับประกันภัยพิบัติภายใต้พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติเสนอ ดังมีรายละเอียด ต่อไปนี้
1. วงเงินความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัย
วงเงินความคุ้มครองและการจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ (sub limit) แบ่งตามประเภทของผู้เอาประกันภัยเป็น 3 ประเภท ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนี้
(1) บ้านอยู่อาศัย วงเงินความคุ้มครองไม่เกิน 100,000 บาท คิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ร้อยละ 0.5 ต่อปีของวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
(2) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หมายถึง ธุรกิจที่มีทุนประกันภัย ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ภัยพิบัติที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนประกันภัย คิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ร้อยละ 1.0 ต่อปีของวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
(3) อุตสาหกรรม หมายถึง ธุรกิจที่มีทุนประกันภัยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จะจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ภัยพิบัติที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนประกันภัย คิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ร้อยละ 1.25 ต่อปีของวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
2. เกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ภัยพิบัติ (Trigger)
กรมธรรม์ภัยพิบัติจะครอบคลุมประเภทภัยพิบัติรวม 3 ภัย ได้แก่ วาตภัย อุทกภัย และธรณีบัติภัย โดยจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัย ที่เข้าลักษณะภัยพิบัติ ดังต่อไปนี้
(1)คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่นเดียวกับกรณีการให้เงินช่วยเหลือพิเศษ จำนวน 5,000 บาทต่อครัวเรือน เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 หรือ
(2) จำนวนค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายให้เป็นไปตามข้อมูลที่ได้รายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ
(3) กรณีธรณีพิบัติ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือกรณีวาตภัย ความเร็วของลมพายุตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล
3. วิธีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
วิธีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัยจะสำรวจและประเมินความเสียหาย โดยจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติในทุกกรณี ยกเว้นกรณีอุทกภัยในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากมีผู้เอาประกันภัยจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจะพิจารณาที่ระดับน้ำเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยหากน้ำท่วมพื้นอาคารจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ 30,000 บาท หากระดับน้ำสูง 50 เซ็นติเมตร 75 เซ็นติเมตรและ 100 เซ็นติเมตรจากพื้นอาคาร จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ 50,000 บาท 75,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ
กลุ่มผู้เอาประกันภัย วงเงิน การจ่ายค่าสินไหมทดแทน การจ่ายค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัย
ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ กรณีอุทกภัย กรณีวาตภัยและ ต้องรับผิดชอบ (Deductible)
ธรณีพิบัติภัย
บ้านอยู่อาศัย ไม่เกิน น้ำท่วมพื้นอาคาร: บริษัทประกันภัยสำรวจและประเมินความเสียหาย ไม่มี
100,000 บาท 30,000 บาท โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
ระดับน้ำสูง 50 ซม. จากพื้นอาคาร : 50,000 บาท
ระดับน้ำสูง 75 ซม.จากพื้นอาคาร: 75,000 บาท
ระดับน้ำสูง 100 ซม.จากพื้นอาคาร : 100,000 บาท
SMEs และอุตสาหกรรม ร้อยละ 30 ของทุนประกันภัย บริษัทประกันภัยสำรวจและประเมินความเสียหาย บริษัทประกันภัยสำรวจและประเมินความเสียหาย โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ร้อยละ5
โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ของวงเงินความคุ้มครอง
ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ที่ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ประชุมหารืออย่างต่อเนื่องรวมทั้งหมด 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2555 เพื่อเร่งพิจารณาแนวทางการรับประกันภัยพิบัติที่เหมาะสม และสามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าแนวทางการรับประกันภัยพิบัติที่คณะกรรมการฯ ได้นำเสนอ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกภาคส่วน ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย SMEs และอุตสาหกรรม ในการเข้าถึงและใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ อันเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่นอกจากจะมีนโยบายการจัดการและบริหารน้ำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การประกันภัยพิบัตินี้ก็จะช่วยเติมเต็มการจัดการความเสี่ยงภัยให้ครบถ้วนสมบูรณ์
สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3696