การประกาศผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท Rating and Investment Information (R&I)

ข่าวทั่วไป Tuesday March 13, 2012 09:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ R&I ได้ยืนยันสถานะอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ BBB และ BBB+ ตามลำดับ และคงสถานะแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable) นอกจากนี้ ยังยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือหนี้รัฐบาลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศที่ a-2 ดังสรุปได้ดังตารางที่ 1 โดยหลักการและเหตุผลของ R&I ในการยืนยันและคงสถานะอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในระดับดังกล่าวมาจากการที่เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตน้ำท่วม ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังสามารถดำรงดุลบัญชีเดินสะพัดให้เกินดุลในขณะที่การบริหารจัดการทางการคลังยังคงมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ R&I มองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในภาคประชาชนไม่เป็นปัญหาต่อการฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำท่วม อย่างไรก็ดี R&I จะยังคงจับตามองถึงการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป ตารางสรุปที่ 1 ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย R&I ณ วันที่ 6 มีนาคม 2555 อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยR&I สถานะ Outlook 1. อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศ BBB Stable 2. อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสกุลเงินบาท BBB+ Stable 3. อันดับความน่าเชื่อถือหนี้รัฐบาลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ a-2 - ในส่วนของรายละเอียดนั้น R&I ได้ชี้ว่า ผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นเวลามากกว่า 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ภาคการผลิตชะลอตัวและภาคการส่งออกลดลงจนอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2554 ลดลงเหลือร้อยละ 0.1 อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของไทยน่าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโตในอัตราที่สูงอีกครั้งในปี 2555 ที่ร้อยละ 4.9 ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าวิกฤตน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีมาตรการรองรับเหตุการณ์น้ำท่วมไม่เพียงพอ แต่บริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศมีเพียงไม่กี่รายเนื่องจากยังคงมีแรงดึงดูดจากอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) ที่ได้รับการพัฒนาแล้วของไทย ทั้งนี้ R&I มองว่า ประเทศไทยควรให้ความสนใจต่อแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศอย่างมาก อย่างไรก็ดี สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคยุโรปที่กำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจจากวิกฤตหนี้มีเพียงร้อยละ 10 ของการส่งออกรวม จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทย รวมถึงมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังทำให้ R&I เห็นความตั้งใจในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ว่าความจำเป็นในการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อใช้กระตุ้นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ความกังวลต่อการใช้จ่ายของภาครัฐที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจนเกินควรนั้นมีเพียงเล็กน้อยเนื่องจากกรอบการก่อหนี้สาธารณะที่เข้มงวดภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ ดังจะเห็นได้จากช่วงหลังวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ (Lehman Brothers) การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 3 ของ GDP และยังคงมีการดำเนินนโยบายทางการคลังแบบอนุรักษ์นิยม โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554 ยอดคงค้างหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 40.5 อย่างไรก็ดี ภาระทางการคลังในอนาคตอาจจะมีแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการทางสังคมเพื่อลดช่องว่างของรายได้ซึ่งเป็นฐานรากของความขัดแย้งทางการเมือง อีกทั้งการลงทุนตามมาตรการรองรับเหตุการณ์น้ำท่วมและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการทางการคลังเพื่อดำรงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นพร้อมกับการรักษาวินัยทางการคลังจึงเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อต้านยังคงต้องเฝ้าระวัง อย่างไรก็ดี R&I เชื่อว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจของไทย โดยถึงแม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลในช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถป้องกันเหตุการณ์ยึดอำนาจและการรุกฮือทางการเมืองได้ตั้งแต่เข้ามาดำเนินงานในเดือนสิงหาคม 2554 ทั้งนี้ ปัญหาโครงสร้างทางสังคมของประเทศ เช่น ความแตกต่างของระดับรายได้ระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทยังไม่ถูกขจัด รวมถึงปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเดินทางกลับมาของนายทักษิณที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีกครั้ง R&I ยังคงเห็นว่า นโยบายดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลที่นักลงทุนชาวต่างชาติให้การพิจารณาในแง่บวกจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และประเทศไทยน่าจะยังรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจไว้ได้ ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505 หรือ 5518

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ