กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันนี้ (22 เม.ย.47) เวลา 12.00 น. นายพิชัย ไชยพจน์พานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ว่า ภายหลังจากที่กรุงเทพมหานครดำเนินการปิดประกาศเชิญชวนผู้มีส่วนได้เสียไปตรวจดูแผนผังและข้อกำหนดของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 2) ปรากฏว่า มีประชาชนผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องจำนวนทั้งสิ้น 5,171 ราย ซึ่งจำแนกตามองค์ประกอบของผังเมืองรวม ได้แก่ คำร้องเกี่ยวกับแผนผัง การใช้ประโยชน์ที่ดิน 2,961 ราย คำร้องเกี่ยวกับแผงผังโครงการคมนาคมและขนส่ง 798 ราย คำร้องเกี่ยวกับแผนผังแสดงที่โล่ง 4 ราย คำร้องเกี่ยวกับข้อกำหนด 4 ราย คำร้องไม่สมบูรณ์และคำร้องที่ไม่เกี่ยวกับผังเมืองรวม 1,404 ราย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีประชาชนยื่นคำร้องเกี่ยวกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นจำนวนมาก เช่น พื้นที่เขตมีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง ซึ่งเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมนั้น ได้มีการพิจารณาปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยให้มีสิ่งปลูกสร้างประเภทพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงประเภทอุตสาหกรรม พื้นที่ไม่เกิน 200 ตร.ม. สถานพยาบาล และตลาด เป็นต้น รวมทั้งมีการกำหนดสัดส่วนของขนาดอาคารต่อพื้นที่แปลงที่ดิน (Far Area Ratio: FAR) โดยให้มีการปรับเพิ่มเพื่อให้มีพื้นที่สร้างอาคารได้มากขึ้น และปรับลดสัดส่วนของที่ว่างต่อขนาดพื้นที่อาคารรวม (Open Space Ratio: OSR) ตามความเหมาะสม ซึ่งโดยหลักการแล้ว ที่อยู่อาศัยต้องมีที่ว่างเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในอาคารสามารถเคลื่อนย้ายได้หากเกิดเหตุอุบัติภัย โดยเฉลี่ยแล้วควรมีที่ว่างหลังจากสร้างอาคารประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้จากการพิจารณาประเด็นคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ที่ประชุมได้มีมติให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด บางประการในร่างผังเมืองรวม อาทิ การปรับลดระยะถอยร่นโดยรอบอาคาร จากเดิมกำหนดให้มีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า 2 เมตร เป็นให้มีที่ว่างด้านข้างอาคารไม่น้อยกว่า 1 เมตร ส่วนที่ว่างด้านหน้าและด้านหลังให้มีไม่น้อยกว่า 2 เมตร แต่ความสูงให้เป็นไปตามค่ากำหนดของ FAR และ OSR ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ให้คงการใช้ประโยชน์ที่ดินตามเดิม และสีของพื้นที่คงเดิม
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวในตอนท้ายว่า เนื่องจากยังต้องมีการพิจารณาร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 2) อีกหลายขั้นตอน จึงจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบัน (ปรับปรุงครั้งที่ 1) ออกไปจนถึงวันที่ 4 ก.ค.48 สำหรับขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการต่อไปจากนี้นั้น กทม.จะเสนอความเห็นของกทม.และคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการผังเมือง โดยคณะกรรมการฯ อาจพิจารณาแก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกข้อกำหนดบางประการ ซึ่งหลังจากดำเนินการแก้ไขแล้วจะเสนอร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 2) เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะพิจารณาเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีรับหลักการ ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ เมื่อคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแล้ว รมต.มหาดไทยจึงลงนามและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป--จบ--
-นห-