กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
- สอดคล้องกับผลประกอบการของกลุ่ม สวนกระแสเศรษฐกิจโลก
- ยอดใช้บัตรเครดิตและเงินกู้ภาครัฐดันยอดบุคคลธนกิจ โตเพิ่ม 23%
- พร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อสามารถเติมเต็มความต้องการในการขยายตัวทางธุรกิจในภูมิภาค
นางลิน ค็อก กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) แถลงผลประกอบการปี 2554 ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นที่น่าพอใจด้วยผลกำไร 4,004 ล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าผลกำไรในปี 2553 (3,162 ล้านบาท) ถึงร้อยละ 27 แม้ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว จะมีการหดตัวทางเศรษฐกิจเนื่องด้วยปัญหาอุทกภัย โดยบุคคลธนกิจ และสถาบันธนกิจต่างก็มีผลกำไรสูงขึ้นร้อยละ 23 และ ร้อยละ 10 ตามลำดับ
“ผลประกอบการในเมืองไทยของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นไปในทิศทางเดียวกับของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกรุ๊ป ซึ่งมีผลประกอบการดีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่ 9 ด้วยรายได้ 17.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ และผลกำไร 6.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้นกว่าปี 2553 ถึงร้อยละ 11 แม้ปัญหาหนี้สาธารณะยูโรโซน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ช้าของสหรัฐอเมริกา และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนล้วนส่งผลกระทบไปทั่วโลก และยังได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือจาก 3 สถาบัน ได้แก่ เอสแอนด์พี เป็น AA- ฟิตช์เรตติ้ง เป็น AA- และมูดีส์ เป็น A1” นางลิน กล่าว
สำหรับสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ยังคงรักษาอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AAA แนวโน้มอันดับมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยที่ให้โดยฟิตช์เรตติ้งนอกจากนี้ ยังได้รับการปรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวเป็น A+ จาก A อีกด้วย
บุคคลธนกิจ
“ในส่วนของบุคคลธนกิจเราพยายามรักษาสัดส่วนระหว่างเงินกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Lending) และเงินกู้แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Lending) ให้เหมาะสม ส่งผลให้เซ็กเมนต์ธุรกิจลูกค้าเอสเอ็มอี และบริการธนาคารพิเศษ (Priority Banking) เติบโตสูงขึ้นเป็นอัตราเลข 2 หลัก โดยหลักทรัพย์แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เติบโตขึ้นมากด้วยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลในขณะที่เงินกู้แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยกรมธรรม์คุ้มครองสินเชื่อแบบทุนประกันลดลง (Mortgage Reducing Term Assurance: MRTA) และในปีที่ผ่านมา บุคคลธนกิจของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีสินทรัพย์ และหนี้สินต่างเติบโตขึ้นร้อยละ 12 อย่างสมดุลย์” นางลิน กล่าวเพิ่มเติม
สถาบันธนกิจ
ในปี 2554 ฝ่ายสถาบันธนกิจประสบความสำเร็จในการลงนามสัญญากับหลายบริษัท รวมทั้งสามารถนำบริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความแข็งแกร่งของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในด้านเครือข่ายและประสบการณ์ในตลาดต่างประเทศ และสามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทไทยที่ต้องการลงทุน และขยายธุรกิจในต่างประเทศ
ภายในประเทศเอง สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสามารถสนับสนุนให้สถาบันทางการเงินต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารกลางอเมริกาเพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจ (Central America Bank of Economic Integration) ธนาคารไอเอ็นจี และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศเกาหลี (ฮานาแบงก์) ออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทย
ทิศทางธุรกิจปี 2555
“ในปี 2555 ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ยังตั้งเป้าจะเติบโตเป็นเลข 2 หลัก โดยยังคงดำเนินกลยุทธ์เช่นเดิม คือ ก้าวย่างด้วยความระมัดระวัง รักษาความแข็งแกร่งของงบดุล สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่เหนือชั้น ในปีนี้ บุคคลธนกิจ จะใช้ ‘เซอร์วิส การันตี’ เป็นธีมในการดำเนินงานตลอดทั้งปี โดยจะมีผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ นำเสนอแก่ลูกค้าภายในไตรมาสที่ 2 นี้ สำหรับไพรออริตี้แบงกิ้ง จะเปิดตัว ‘คลินิกจัดการความมั่งคั่ง’ และยังจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี หลังจากประสบความสำเร็จกับบัญชีเงินฝาก ‘เซฟวิ่ง ฟอร์ แฟน’ พร้อมบัตรเอทีเอ็มและเดบิต ที่ทำให้ได้ลูกค้าใหม่มากถึง ร้อยละ 54 สำหรับสถาบันธนกิจ ก็จะยังคงความแข็งแกร่งในการนำลูกค้าสู่การลงทุน และการขยายตลาดในต่างประเทศด้วยความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายทางธุรกิจทั่วโลกของธนาคาร” นางลินสรุป
มุมมองในระยะยาวกว่านั้น นางลินกล่าวเสริมว่า “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ที่จะมีผลในปี 2558 นั้นถือเป็นโอกาสที่สำคัญ เนื่องจากมีประชากรมากถึง 600 ล้านคน และมีโอกาสที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจะเข้าไปเติมเต็มความต้องการทางธุรกิจด้วยบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการในภูมิภาคได้ และในปีนี้ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน จะมีการสัมมนา World Economic Forum ในเมืองไทย และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในฐานะผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการเชื่อว่า จะเป็นโอกาสอันดีที่ธุรกิจธนาคารจะเป็นหนึ่งในกลไกเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจให้การลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย” นางลินกล่าวทิ้งท้าย