กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--Index Creative Village
กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรียมจัดงาน TICEF 2012ขนกูรูคนดังด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วโลกแลกเปลี่ยนความรู้ 26-27 มีนาคม ศกนี้หวังผลักดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน
กรมทรัพย์สินทางปัญญา สานต่อนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เดินหน้าจัดงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ ครั้งที่ 2 หรือ TICEF 2012 วันที่ 26 — 27 มีนาคม 2555 ดึงกูรูชั้นนำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลกมาเปิดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตั้งเป้าเชิญผู้ประกอบการไทย สถาบันการศึกษา และชุมชนเข้าร่วม หวังเห็นคุณค่าของดีในประเทศ นำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาไทยต่อยอดสู่สากล พร้อมผลักดันประเทศไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาลจึงเดินหน้าจัดงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ ครั้งที่ 2 (Thailand International Creative Economy Forum: TICEF 2012 ) เพื่อให้ประชาชนตระหนักรับรู้และเข้าใจในเศรษฐกิจสร้างสรรค์มากขึ้น ประกอบกับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากวิทยากรที่ประสบความสำเร็จระดับโลกและผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศ และเพื่อให้นานาชาติได้รับรู้ศักยภาพด้านการสร้างสรรค์ของประเทศไทย
สำหรับงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 — 27 มีนาคม 2555 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิดหลัก คือ“จากนโยบายสู่การขับเคลื่อน : คุณค่าจากท้องถิ่นต่อยอดสู่สากล” หรือ Grand to Ground: CapturingLocal Value Creating Global Impact เพื่อให้ผู้เข้าร่วมรับทราบเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าดำเนินนโยบายสร้างรายได้ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการ นำคุณค่าและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นหรือชุมชนผนวกเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ นำมาพัฒนาปรับปรุงการผลิตสินค้าและบริการที่เคยอยู่ในรูปแบบเดิม ซ้ำซาก จำเจ ไม่มีความแปลกใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงให้สินค้าหรือบริการเป็นที่ถูกใจลูกค้าติดตลาด โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจด้วยแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาร่วมเสวนา บรรยาย แบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งตั้งเป้าที่จะเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งคนไทยและต่างชาติ เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ คือ จะได้รับฟังปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ซึ่งจะมากล่าวเปิดงานและเผยถึงนโยบายของรัฐบาลด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งปาฐกถาพิเศษของนายฟรานซิส เกอรี่ ผู้อำนวยการองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก พร้อมวิทยากรที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในงาน TICEF 2012 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นายเท็ตสึยากิ ฮิราโน่ ประธาน Hirano Design International, Inc., นายลาร์ส สเวนสัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด IKEA Thailand, ดร. เอ็ดนา โดส ซานโตส หัวหน้าโปรแกรมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD), นายจอห์น ฮอว์กิ้นส์ ประธานกลุ่มสร้างสรรค์และนักเขียนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชื่อดังจากอังกฤษ, นายกอร์ดอน สมิธ Chairman Emeritus of AUS, Inc. ,หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการบริหารเครือซีเมนต์ไทย เป็นต้น
โดยหัวข้อเสวนาแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย 1. โลกาภิวัฒน์แห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2. งานสร้างสรรค์ไทยก้าวไกลสู่ระดับโลก 3. ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างมูลค่าด้วยฐานรากของพิรามิด 4. จับกระแสชีพจร ทิศทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในทศวรรษหน้า 5. ผสานช่องว่างแห่งการพัฒนาวิเคราะห์ความท้าทายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากนี้ภายในงานดังกล่าวยังเปิดให้ชมนิทรรศการแสดงผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ เช่น ปตท., SCG, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, IKEA
นายภูมิ เสริมว่า นอกจากการจัดงาน TICEF 2012 จะเป็นเวทีที่ประเทศไทยจะได้แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับระหว่างประเทศแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย ตลอดจนฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาพึ่งพาการส่งออกมากกว่า 60% ของจีดีพี และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง เนื่องจากไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การส่งออกปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันในโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ประเทศไทยไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ดังกล่าวไปได้ด้วยการพึ่งพายุทธศาสตร์เดิมๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต ดังนั้นการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในช่วงต่อไป จึงต้องปรับเปลี่ยนการเจริญเติบโตจากยุคที่ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติไปสู่การขับเคลื่อนด้วยความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันหากประเทศไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องจะช่วยกระตุ้นสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย รวมทั้งจะช่วยผลักดันประเทศไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้