กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--IR PLUS
คณบดี สถาปัตยกรรม จุฬาฯ พร้อมคณะได้รับสิทธิบัตรออกแบบดวงโคมวังเทวะเวสม์ ในแบงก์ชาติ รวดเดียว 10 รายการ หลังยื่นกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณานาน 5 ปี เผยเป็นความภาคภูมิใจที่ได้สานต่อปณิธานมหาวิทยาลัย เป็นเสาหลักในการช่วยเหลือสังคม และพัฒนาประเทศชาติ พร้อมมอบ บมจ. ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ ผู้นำด้านโคมไฟฟ้าและอุปกรณ์แสงสว่างของไทยผลิตต่อเชิงพาณิชย์ เผยพร้อมเดินหน้าสนับสนุนบุคลากรสร้างผลงานทางวิชาการหนุนภาคเอกชนสู่เวทีการค้าโลกต่อเนื่อง ขณะบิ๊ก L&E เชื่อได้ผู้สนับสนุนงานวิจัยที่แข็งแรงช่วยภาคเอกชนรับมือการแข่งขันได้คล่องตัวขึ้น
ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับสิทธิบัตรออกแบบดวงโคมจำนวน 10 รายการ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หลังจากที่ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย และ รศ.พรรณชลัทสุริโยธิน อาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ร่วมกันออกแบบดวงโคมไฟฟ้าโบราณ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อประหยัดพลังงาน เพื่อติดตั้งในวังเทวะเวสม์ ซึ่งอยู่ภายในธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา และได้มอบหมายให้บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการด้านโคมไฟฟ้าและอุปกรณ์แสงสว่างรายใหญ่ของไทย เป็นผู้ผลิตตามแบบ พร้อมทั้งเป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวให้กับ 2 คณาจารย์ผู้ออกแบบ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังกล่าว
"ทาง บมจ.ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ ในฐานะผู้ผลิตดวงโคมตามแบบ เป็นผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยให้ผมและ รศ.พรรณชลัท สุริโยธิน เป็นเจ้าของสิทธิบัตรร่วมกัน ตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมา จนล่าสุดได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาที่รอตามกระบวนการของกรมทรัพย์สินทางปัญญานานกว่า 5 ปี แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการรอคอยเพราะในที่สุดก็ได้รับสิทธิบัตร เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ดวงโคมที่ร่วมกันออกแบบมาอย่างยากเย็น" ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่าหลังจากที่ได้รับสิทธิบัตรมาเรียบร้อยแล้ว ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้มอบสิทธิการผลิตดวงโคมดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ให้กับ บริษัทไลท์ติ้ง แอนด์อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการผลิตชิ้นงานตามแบบมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การออกแบบดวงโคมเป็นไปอย่างราบรื่น ประการสำคัญจะทำให้ผลงานทางวิชาการ สามารถช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง ซึ่งถือหนึ่งในอุดมการณ์หลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งมั่นจะเป็นเสาหลักค้ำจุนช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติอย่างเต็มกำลัง ด้วยการสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถในมหาวิทยาลัยสร้างผลงานทางวิชาการและส่งต่อให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นบทบาทใหม่ที่ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเข้ารับมือกับการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมาถึงในปี 2558 ได้อย่างเข้มแข็ง
ด้านนายปกรณ์ บริมาสพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ L&E มีโอกาสเข้าไปเป็นฟันเฟืองหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ และที่ภาคภูมิใจยิ่งกว่านั้น คือ ได้รับความไว้วางใจจากคณาจารย์เจ้าของลิขสิทธิ์ให้เป็นผู้รับสิทธิในการผลิตดวงโคมในเชิงเชิงพาณิชย์ด้วย ซึ่งถือว่านโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มุ่งสนับสนุนให้บุคลากรทางการศึกษาที่มีทั้งความรู้และความสามารถ ออกมาสนับสนุนงานวิจัยให้กับภาคเอกชนให้สามารถนำไปพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง เป็นประโยชน์กับภาคเอกชนของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคเอกชนมีโอกาสได้ทีมงานวิจัยที่มีคุณภาพเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจได้อย่างเต็มที่ซึ่งจะช่วยให้การรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในปี 2558 เป็นไปอย่างคล่องตัวและแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการคิดค้นสินค้าที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลกในอนาคต