ISEP จับมือ ม.หอการค้าไทย สัมมนามาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิทัลฯ หลัง กสทช. กำหนดเปลี่ยนระบบรับส่งสัญญาณเป็นดิจิทัลอย่างเป็นทางการในปี 2558

ข่าวเทคโนโลยี Friday March 16, 2012 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ISEP สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ไอเซ็บ - ISEP) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บริหารจัดการโดยเอ๊ซ โดยมี กสทช. เป็นผู้สนับสนุนหลัก จัดสัมมนาต่อนื่องเป็น ซีรีส์ที่ 2 ภายใต้โครงการดิจิทัล อาเจนดา ไทยแลนด์ (Digital Agenda Thailand) ในหัวข้อใหม่ “มาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิทัลสำหรับประเทศไทย” โดยเชิญเจ้าของมาตรฐานระดับโลกที่อยู่ในข่ายที่ประเทศไทยจะต้องเลือก มาอยู่ในเวทีเดียวกัน ประกอบด้วย ตัวแทนจากกลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เพื่อมานำเสนอข้อมูล และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการรับส่งสัญญาณดิจิทัลรูปแบบต่างๆ พร้อมระดมความคิดเห็น และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะให้ กสทช. นำไปพิจารณากำหนดมาตรฐานโทรทัศน์ดิจิทัลที่เหมาะสมกับประเทศไทย ภายหลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เต็มรูปแบบ และ กสทช. กำลังดำเนินการร่างแผนแม่บทเพื่อบังคับให้มีการเปลี่ยนระบบรับส่งสัญญาณให้เป็นรูปแบบดิจิทัลอย่างเป็นทางการในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของประเทศทั้งระบบ โดยจะต้องมีการเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์จากเจ้าของเดิม และยกเลิกสัมปทานวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด เพื่อนำมาเปิดประมูลใหม่ และจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนเป็นระบบโทรทัศน์ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ระบบรับส่งสัญญาณในระบบดิจิทัลที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 มาตรฐาน ซึ่งการจะนำมาใช้ในประเทศไทยนั้น กสทช. จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอย่างรอบคอบ ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) กล่าวถึงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบ และการศึกษาถึงข้อดี - ข้อด้อยของมาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิทัลแต่ละมาตรฐานเพื่อนำไปสู่การพิจารณาเลือกใช้ระบบโทรทัศน์ดิจิทัลที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยอย่างแท้จริง ISEP จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้า โดยมี กสทช. เป็นผู้สนับสนุนหลักตลอดมาตั้งแต่ซีรี่ส์แรก จัดสัมมนาขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญเจ้าของระบบที่เป็นผู้นำระดับโลก ทั้งระบบ DVB จากยุโรป ระบบ ISDB-T จากญี่ปุ่น ระบบ DTMB และ CMMB จากจีน มาร่วมพูดคุยให้ข้อมูลและวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของแต่ละระบบจากที่เคยถูกนำไปใช้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพโดยละเอียดของแต่ละระบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเชิญวิทยากรจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นความท้าทายของระบบโทรทัศน์ดิจิทัลที่จะมีผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และ โอกาสและความเท่าเทียมกันของคนไทย อาทิ ตัวแทนจาก กสทช. สภาอุตสาหกรรมฯ ทรู วิชั่นส์ ไทยคม สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เป็นต้น ทั้งนี้ ดร.ภูษณ ยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เนื่องจากระบบโทรทัศน์ดิจิทัลแบบภาคพื้นดินนั้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ ระบบโทรทัศน์ดิจิทัลแบบภาคพื้นที่นั่งชมอยู่กับบ้าน (Terrestrial) และระบบดิจิทัลแบบพกพา (Mobile Digital TV) การที่ กสทช. มีเป้าหมายมุ่งจะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงนั้น จะไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาก กสทช. มีการกำหนดใช้เทคโนโลยีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลเพียงระบบเดียว เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีด้านนี้กำลังมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก หากประเทศไทยมุ่งผูกมัดตนเองกับเทคโนโลยีระบบหนึ่งระบบใด โดยที่ไม่ศึกษาถึงผลกระทบอย่างถ่องแท้แล้ว และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ในอนาคตอาจส่งผลให้ระบบดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมหรืออาจใช้ไม่ได้แล้วนั้น จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเป็นอย่างมาก และผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็คือประชาชนที่จะต้องลงทุนในการหาซื้ออุปกรณ์เพื่อรับสัญญาณนั่นเอง กรณีของโทรทัศน์ระบบดิจิทัลแบบพกพานั้น ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและจีน แม้ว่าระบบนี้จะประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการดำเนินงานในยุโรป แต่ระบบดิจิทัลทีวีแบบพกพาก็มีประโยชน์มากและเหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่เมือง กสทช. จึงไม่ควรนำระบบดิจิทัลทีวีแบบพกพาไปผูกติดกับการอนุญาตการดำเนินกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลแบบภาคพื้นดิน (Terrestrial) ซึ่งเน้นการรับชมแบบจอใหญ่ และอยู่กับที่ภายในบ้าน เพราะวัตถุประสงค์การใช้งานของระบบไม่เหมือนกัน การที่ กสทช. เคยให้สัมภาษณ์นำแก่สื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมา ว่าจะให้ดำเนินกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลแบบภาคพื้นดิน (Terrestrial) ภายในปี 2555 และดำเนินการดิจิทัลทีวีแบบพกพาในปี 2556 นั้นจึงไม่สมเหตุสมผลเพราะทั้งสองระบบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน การยืดเวลาให้ดำเนินการดิจิทัลทีวีระบบพกพาออกไปถึงปี 2556 จึงถือเป็นการใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีและคลื่นความถี่ที่ไม่คุ้มค่าและไม่ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลได้อย่างแท้จริง ด้าน รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดี คณะนิติศาสตร์ และ ประธาน สถาบันวิชาการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (Academy of Public Policy & Enterprise and Regulation - APaR) กล่าวว่า ในการกำหนดมาตรฐานโทรทัศน์ดิจิทัลนั้น จะต้องไม่กำหนดให้ใช้ proprietary standard แต่ควรกำหนดตามที่ ITU ได้ทำการกำหนดรองรับมาตรฐานทุกระบบ และควรเป็นระบบเปิด ไม่ควรจะเป็นการเลือกของรัฐหรือองค์กรกำกับดูแลเพียงอย่างเดียว เพราะมาตรฐานที่เคร่งครัดเกินไปจะเป็นการมอบอำนาจแบบผูกขาดให้แก่บุคคลบางคนที่มีอำนาจเหนือตลาด ดังนั้น จึงเห็นว่าอย่างน้อย กสทช. น่าจะมีการอนุญาตในเบื้องต้นให้นำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ไม่น้อยกว่าสองระบบ ซึ่งต้องเป็นระบบที่มีการยอมรับในองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเป็นระบบดิจิทัลหลักและระบบดิจิทัลรอง ทั้งนี้ในกรณีที่ระบบตามมาตรฐานใดล้มเหลวระหว่างการดำเนินงาน กิจการกระจายเสียงของประเทศก็จะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรณีนี้เป็นบทเรียนมาแล้วจากความล้มเหลวในการติดตั้งใช้งานมาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในหลายๆ ประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกาใต้ ประเทศไทยจึงควรศึกษาเรื่องนี้อย่างถ่องแท้และจริงจัง ในส่วนของการทดลอง (Trial) และการอนุญาตนั้น รศ. สุธรรม เห็นว่า กสทช. ควรเปิดโอกาสให้มีการทดลอง (Trial) เทคโนโลยีมาตรฐานต่างๆ อย่างสมจริง ดังที่ได้มีการปฏิบัติจริงกันในหลายประเทศ พร้อมเปิดให้มีการแข่งขันกันของเทคโนโลยีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลตามมาตรฐานต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศได้มีโอกาสเรียนรู้ ต่อยอดความรู้ทางเทคโนโลยี และเป็นการส่งเสริมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง การตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีมาตรฐานใดๆ จึงควรพิจารณาข้อมูลด้านอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลทางวิศวกรรมเป็นตัวกำหนดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญๆ ดังต่อไปนี้ด้วย อาธิเช่น ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือ (Economy of scale) ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ความเป็นเลิศของเทคโนโลยี ความคุ้มทุนในเชิงเศรษฐกิจ กลไกตลาด การประยุกต์ใช้งาน (Applications) อื่นๆ ที่นอกเหนือจากการเป็นทีวี เช่น การรองรับมัลติมีเดีย ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินว่าเทคโนโลยีตามมาตรฐานใดจะเหมาะสมสำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะประเทศเพื่อนบ้านก็รับชมรายการโทรทัศน์ของประเทศไทยกันอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานแล้ว จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศชาติที่ไม่ควรมองข้ามในทุกกรณี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณฐิตาภัทร์ คำพูกูล โทร. 086 60555 10 หรือ 02 946 8470

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ