กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--สสปน.
สสปน. จับมือ สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย/ทิก้า/ททท. และจังหวัดเชียงใหม่ ตอกย้ำ “เชียงใหม่” ศูนย์กลางไมซ์แห่งภูมิภาคอินโดจีน กระตุ้น 30 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมส่งเสริมการจัดประชุม ฝึกอบรมศึกษาดูงานภายในประเทศดึงเส้นทางดูงานตามรอยพระราชดำริพร้อมสัมผัสความพร้อมศูนย์ประชุมแห่งใหม่ คาดสร้างรายได้กว่า 60 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมแฟมทริป “สัมผัสถิ่นล้านนา ตระการตาราชพฤกษ์ นึกถึงการประชุมเมืองไทย...มั่นใจ เชียงใหม่ พร้อม” ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ว่า “การพัฒนาเมืองไมซ์ในการรองรับการเป็นผู้นำการจัดงานไมซ์ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาไมซ์ในประเทศของ สสปน. โดยหวังผลการสร้างกิจกรรมเพิ่มมูลค่าภายในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งให้แต่ละเมืองไมซ์มีความเข้มแข็งและสามารถเป็นต้นแบบเมืองไมซ์แก่พื้นที่อื่นๆของประเทศ โดยเชียงใหม่มีศักยภาพความพร้อมสำหรับผู้เดินทางกลุ่มไมซ์และยังเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวติดอันดับ 5 ของโลก จากนิตยสารท่องเที่ยวชั้นนำของสหรัฐอเมริกา “ทราเวล แลนด์ เลเชอร์ (Travel and Leisure)”
เชียงใหม่มีโรงแรมที่พักทั้งระดับหรูหรา 5 ดาว บูติครีสอร์ท โรงแรมขนาดเล็กและโฮมสเตย์ รวม 33,260 ห้อง ทั้งที่อยู่ในเมืองและภายในชุมชนของชาวเขาเผ่าต่างๆรับกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยว มีสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ซึ่งสามารถรองรับเที่ยวบินได้ถึง 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ให้บริการผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาปีละกว่า 3.2 ล้านคน จัดเป็นสนามบินขนาดใหญ่อยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศ รองจากสนามบินสุวรรณภูมิและภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาสนามบินให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค พร้อมกับแผนพัฒนาเมืองก้าวสู่การเป็นศูนย์รวมทางศิลปวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคอินโดจีน รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมขนส่งจากเชียงใหม่เชื่อมโยงฝั่งตะวันออกและตะวันตก (the East-West Corridor Transportation Network) ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (the Greater Mekong Subregion - GMS)
การจัดกิจกรรมแฟมทริปครั้งนี้ สสปน. ผนึกความร่วมมือกับ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) จัดกิจกรรมพิเศษระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2555 เชิญนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีศักยภาพในการจัดประชุมฝึกอบรมนอกพื้นที่จำนวน 30 ราย จากทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ ปัตตานี อุดรธานี นครสวรรค์ นนทบุรีฯลฯ เข้าร่วมสัมผัสประสบการณ์ศึกษาเส้นทางดูความพร้อมรองรับการจัดกิจกรรมด้านไมซ์ (การจัดประชุมฝึกอบรมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการจัดงานแสดงสินค้า) ในจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง
“กิจกรรมแฟมทริปครั้งนี้จะเน้นการนำเสนอแนวคิดการจัดไมซ์ในประเทศภายใต้ 2 แนวคิดหลัก คือ การสร้างประสบการณ์ทางธุรกิจการเรียนรู้ใหม่ๆ (Experiential) และ กิจกรรมส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนจาก อบต.ได้เยี่ยมชมและศึกษาแนวคิดในการพัฒนาจากโครงการพระราชดำริอย่างโครงการหลวงแม่ขุนกลาง ดอยอินทนนท์ และไปดูงานการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนที่ร่วมกับชุมชนในการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุขที่โรงงานบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จ.ลำปาง เพื่อเป็นแนวทางไปปรับใช้ในการพัฒนาให้เข้ากับชุมชนในความดูแลของแต่ละ อบต. โดยการจัดแฟมทริปโดยผนวกแนวคิดเรื่อง CSR เป็นหนึ่งในรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมตลาดไมซ์ในประเทศ ภายใต้ “โครงการประชุม D-MICE มั่นใจเมืองไทยพร้อม” ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2554 และยังสานต่อมาในปีนี้” นายจิรุตถ์ กล่าวเสริม
ด้านนางประชุม ฉายะพงศ์ ประธานกรรมการฝ่ายส่งเสริมการขาย สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ในแฟมทริป จะไม่ใช่กำหนดการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป แต่จะเป็นการจัดทำกำหนดการขึ้นมาใหม่เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของการเดินทางในแต่ละครั้ง (Tailor Made Programme) เพื่อให้มีความแตกต่างและสร้างความประทับใจให้แก่กลุ่มผู้ร่วมเดินทาง นอกเหนือจากนี้ สมาคมฯ ยังจัดทำ Training Course สั้นๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการสู่การเป็น MICE City” รวมถึงการจัดเสวนาให้แก่ผู้เข้าร่วมการเดินทางครั้งนี้ ในหัวข้อ “เคล็ดลับการจัดประชุมอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ” และจัดกิจกรรม ผู้ซื้อพบผู้ขาย (Table Top Sales) ควบคู่ไปกับการจัดแฟมทริปด้วย โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการทั้งที่เป็นสมาชิกของสมาคมทิก้า และสมาคมฯ อื่นๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้มีโอกาสเสนอสินค้าและบริการให้แก่ กลุ่มผู้แทนจาก อบต. ดังกล่าว
“เราคาดการณ์ว่า จากการเข้าร่วมกิจกรรมแฟมทริปของ อบต. จำนวน 30 รายในครั้งนี้จะมีผู้กลับมาจัดประชุมในประเทศไทยตลอดปี 2555 ประมาณกว่า 10,000 คน สร้างรายได้กว่า 60 ล้านบาท ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศของปีนี้ สสปน.ตั้งเป้ารักษาผู้เดินทางกลุ่มไมซ์จำนวน 2 ล้านคน สร้างรายได้มูลค่า 10,900 ล้านบาท” นายจิรุตถ์กล่าวสรุป