กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--กรมการแพทย์
กรมการแพทย์เผย!!ในแต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เด็กร้อยละ 58 ถูกกระทำโดยคนใกล้ชิด รองลงมาร้อยละ 20 เป็นการโดนทำร้ายโดยคนแปลกหน้า และร้อยละ 8 ถูกทำร้ายโดยผู้ปกครอง การถูกทำร้ายเกิดได้กับเด็กในทุกช่วงวัย จึงขอเตือนผู้ปกครองให้ความห่วงใยและดูแลเอาใจใส่เด็กเล็กอย่างใกล้ชิด รู้จักควบคุมอารมณ์และหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ
แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าปัจจุบันการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคเด็กของประเทศจะประสบความสำเร็จอย่างมาก เห็นได้จากการลดจำนวนลงของการเสียชีวิตในเด็กจากโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดต่อ แต่ในทางกลับกันพบว่ามีเด็กที่ถูกทำร้ายและได้รับบาดเจ็บรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งด้านการป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลือ พบว่าการบาดเจ็บเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเสียชีวิต หลังจากขวบปีแรก ถึง 2 ใน 3 หรือร้อยละ 64 เสียชีวิต และเกือบร้อยละ 70 เป็นการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-17 ปี
ทั้งนี้รายงานจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีระบุว่ามีเด็กและทารกที่บาดเจ็บจากการถูกกระทำรุนแรงเข้ารับการรักษาเฉลี่ยปีละ4-6 ราย อายุระหว่าง 2 เดือน - 2 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี สาเหตุการบาดเจ็บส่วนใหญ่คือการตกจากที่สูง เช่น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีความสูงมากกว่า 2 เท่าของความสูงของเด็ก พบมากในเด็กอายุ 9 เดือน — 2 ปี การถูกเขย่าแรง ๆ มักเกิดในเด็กอายุ 2-6 เดือน การจมน้ำพบในเด็กอายุ 9 เดือน — 2 ปี และที่สำคัญคือการถูกทำร้ายโดยบุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดซึ่งเกิดได้กับเด็กทุกช่วงอายุ
แพทย์หญิงวิลาวัณย์ กล่าวต่อไปว่าการทำร้ายเด็กนอกจากจะเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและความพิการตลอดชีวิตด้วย แต่ละปีจะมีเด็กมากกว่า 1,600 คน พิการอันเนื่องมาจากการบาดเจ็บ และในจำนวนเด็กพิการเหล่านี้ทุก 10 คน ใช้เวลาอย่างน้อย 10 วันในการรักษา ทุก 37 คน ใช้เวลาในการรักษาอยู่ในช่วง 1-9 วัน และทุก 88 คนขาดเรียนหรือขาดงานอย่างน้อย 3 วัน และทุกวันจะมีเด็กเสียชีวิตจากการบาดเจ็บอย่างน้อย 16 คน
เด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายแม้จะไม่ถึงแก่ชีวิตแต่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาด้านสุขภาพโดยเฉพาะผลต่อสมอง เช่น การตกจากที่สูงในลักษณะศีรษะกระแทกหงายท้อง การเขย่าเด็กแรงๆโดยไม่ได้ตั้งใจจะทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน ถึงแม้ว่าในช่วงแรกอาจไม่พบความผิดปกติและเด็กไม่สามารถบอกรายละเอียดเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับตนได้ ทำให้ผู้ปกครองไม่พาไปพบแพทย์ทันที แต่อาการส่วนใหญ่อาจส่งผลภายหลังคือ มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ สมองช้ำ กระหม่อมโป่ง อาเจียน ซึม ชักและอาจเสียชีวิต บางรายแม้จะได้รับการรักษาแต่ก็อาจประสบปัญหา เช่น สมองพิการ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นโรคลมชัก มีพัฒนาการช้า ปัญญาอ่อน ก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย
นอกจากนี้ปัญหาการบาดเจ็บในเด็กจากการถูกทำร้ายยังกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นการแบกภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาและเป็นภาระทางสังคม การบาดเจ็บที่ทำให้เกิดความพิการตลอดชีวิตมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการบาดเจ็บที่ทำให้เสียชีวิต
“เพื่อป้องกันปัญหาการบาดเจ็บในเด็กจากการถูกทำร้ายหรือผลกระทบต่างๆ สังคมไทยและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสนใจและหาแนวทางปกป้องคุมครองให้เด็กได้อยู่ใน สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเก็บกักน้ำ ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำ บ่อเลี้ยงปลาควรมีที่กั้นเพื่อไม่ให้เด็กเข้าไปได้ หากพ่อแม่ไม่ได้ดูแลบุตรด้วยตนเองควรคัดเลือกผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กด้วยการประเมินวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างละเอียด ถูกหลักวิชาการ และควรสังเกตเกี่ยวกับกิริยาท่าทางของเด็ก พฤติกรรมการกิน การนอน หากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาทันที เพราะหากเกิดการบาดเจ็บหรือมีการกระทำที่รุนแรงกับเด็ก ไม่เพียงแต่เกิดบาดแผลที่เห็นภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจิตใจของเด็กที่จะต้องได้รับการเยียวยาในระยะยาวอีกด้วย”