กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--สสวท.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการและลงนามความร่วมมือการคัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ระหว่างประเทศ ในงาน International Young Physicist' Tournament [IYPT] หรือ Physics World Cup เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมเซ็นต์เจมส์ กรุงเทพ ฯ โดยมี สสวท. ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการดำเนินงานดังกล่าว
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. เปิดเผยว่า สสวท. ได้มุ่งส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความตระหนักในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และหาแนวทางให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น เนื่องจากวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่มักจะถูกมองว่าเรียนยาก จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดำเนินการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ทั้งเวทีในประเทศและเวทีระดับโลก เนื่องจากเล็งเห็นว่ากิจกรรมนี้สามารถกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ และมองเห็นการนำความรู้วิชาฟิสิกส์มาตอบคำถามในสิ่งที่พบเห็นหรือสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัว
สำหรับลักษณะของการแข่งขันแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ระหว่างประเทศ ในงาน International Young Physicist' Tournament [IYPT] คล้ายการโต้วาทีทางวิชาการในเรื่องของการแก้โจทย์ปัญหาปลายเปิดจำนวน 17 ข้อ ทุกทีมต้องทำการศึกษา ค้นคว้าทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมาอธิบาย ออกแบบและทดลองเพื่อหาคำตอบ เป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ความรู้ และทักษะที่หลากหลาย ทั้งการนำทฤษฎีมาแก้โจทย์ ทักษะการคิด การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกันเป็นทีม การนำเสนอในเวลาจำกัด การตั้งคำถามและตอบคำถาม ตลอดจนไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในปี พ.ศ. 2555 นี้ การแข่งขันดังกล่าว จะจัดขึ้นในวันที่ 20-29 กรกฎาคม 2555 ที่เมือง Bad Sualgau สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
“สิ่งสำคัญที่ได้จากการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมนี้ก็คือการที่ประเทศไทยจะได้นักเรียนที่รักในการเรียนฟิสิกส์จำนวนมากขึ้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่งต่อไปยังสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ นอกจากนั้น สสวท. และมหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกันทั้ง 5 แห่ง ยังได้เล็งเห็นการเตรียมพร้อมครูที่จะมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ฟิสิกส์ให้แก่นักเรียนสู่เวทีดังกล่าว โดยอนาคตคาดว่าจะมีการจัดอบรมเทคนิคการเป็นที่ปรึกษาการแก้โจทย์ปัญหาแก่ครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์
นอกจากนั้นจะขยายผลสู่โรงเรียนโดยจัดทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) หรือโรงเรียนที่มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังมองไปถึงการสร้างแรงจูงใจในรูปแบบของการให้โควต้าเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาบางคณะโดยการสมัครตรง หรือแม้กระทั่งการพิจารณาให้ทุนศึกษาต่อ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม” นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว