ฟิทช์ให้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'A-(tha) แก่บริษัทเงินทุนทิสโก้

ข่าวทั่วไป Wednesday April 28, 2004 11:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวและระยะสั้นแก่บริษัทเงินทุนทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ("ทิสโก้") ที่ระดับ 'A-(tha)' และ 'F2(tha)' ตามลำดับ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสะท้อนถึงการเติบโตและการทำกำไรที่สูง การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ รวมถึงความแข็งแกร่งของคุณภาพสินทรัพย์ เงินทุนและสภาพคล่องของบริษัท แต่อันดับเครดิตก็ยังคำนึงถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่อัตรากำไรจะถูกแรงกดดันจากการที่ อัตราดอกเบี้ยและการแข่งขันในธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
ทิสโก้มีกำไรสุทธิในปี 2546 ที่ 1.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีสาระสำคัญจากระดับ 1.2 พันล้านบาทในปี 2545 เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่งของสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ต้นทุนเงินกู้ยืมที่ลดต่ำลง ระดับการกันสำรองที่ลดลง การเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ และผลประโยชน์ทางภาษี อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.5 % ในปี 2546 จาก 2.5% ในปี 2545 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นด้วยเป็น 20.9% จาก 16.4 %
สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ เป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของสินเชื่อทั้งหมดของทิสโก้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการที่คนส่วนใหญ่หันมาใช้สินเชื่อเพื่อการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินเชื่อของทิสโก้เพิ่มสูงขึ้นมากในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตอาจจะมีแนวโน้มลดลงบ้างในปี 2547/2548 เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อให้ผลตอบแทนกับบริษัทในอัตราที่คงที่ การลดลงของต้นทุนเงินกู้ยืมน่าจะช่วยให้อัตราผลกำไรและการทำกำไรของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม อัตราผลกำไรของทิสโก้กลับลดลงเล็กน้อยในปี 2546 เนื่องมาจากการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อ ในทางตรงกันข้ามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีผลกระทบต่อผลกำไรและอัตราการเจริญเติบโตของกำไรในระยะปานกลาง แม้ว่าความเสี่ยงนี้จะถูกทำลดลงเนื่องจากอายุเฉลี่ยของสินทรัพย์ (Average Asset Duration) ของบริษัทอยู่ที่ 1.1 ปี
คุณภาพของสินทรัพย์ของทิสโก้ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ลดลงมาอยู่ระดับ 2.7 พันล้าน หรือ 5.5% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นปี 2546 จากระดับ 7.6% ณ สิ้นปี 2545 ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ก็ลดลงมา อยู่ที่ระดับ 1 % เป็นผลจากการที่ทิสโก้เน้นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถใหม่ (ขณะนี้อยู่ที่ 93 % ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งหมด) ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถใช้แล้ว ระดับเงินสำรองหนี้สูญที่ระดับ 171% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่ระดับ 71.5 % ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมกับหนี้ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ณ สิ้นปี 2546 ก็อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ กลยุทธ์ในการทำธุรกิจและการจัดการทางด้านความเสี่ยงของทิสโก้ค่อนข้างจะรัดกุมและเข้มงวดเมื่อเทียบกับบริษัทเงินทุนและผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรายอื่นๆในประเทศ การเจริญเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของบริษัท แม้ว่าจะอยู่ในระดับสูง แต่ก็ต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของคู่แข่งรายใหญ่ๆของบริษัท ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดของทิสโก้
รายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์นั้นขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งค่อนข้างผันผวน ทิสโก้ยังเป็นผู้บุกเบิกทางด้านธุรกิจการจัดการกองทุนในประเทศไทย และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในการจัดการกองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพสำหรับภาคเอกชน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะช่วยให้ทิสโก้ขยายธุรกิจการจัดการสินทรัพย์นี้ได้ในระยะยาว
เนื่องจากการเจริญเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่สูงและการจัดการสภาพคล่องของบริษัท สภาพคล่องส่วนเกินของทิสโก้ได้ลดลงมาในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เงินสดและเงินลงทุน ลดลงจากระดับ 20.5 %ของเงินฝากและเงินกู้จากตลาดเงิน ณ สิ้นปี 2543 มาอยู่ที่ระดับ 13.9 % ณ สิ้นปี 2546 ทิสโก้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อยกระดับตัวบริษัทให้เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งน่าจะช่วยในส่วนสภาพคล่องของบริษัทให้ดีขึ้นในระยะยาว เนื่องจากบริษัทจะสามารถสร้างชื่อและระดมเงินฝากได้ดีขึ้นในรูปแบบของธนาคารพาณิชย์
การช่วยเหลือทางด้านเงินทุนของกระทรวงการคลังมีส่วนช่วยให้ทิสโก้ รอดพ้นวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 ณ สิ้นปี 2546 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของบริษัทอยู่ที่ 9.1 พันล้านบาทหรือ 18.8% ของสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินส่วนใหญ่
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งถูกถือหุ้น 99.9% โดยทิสโก้ ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ