ฟิทช์ ประเทศไทย ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่งที่ BBB+(tha)

ข่าวทั่วไป Wednesday April 28, 2004 11:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวและระยะสั้นแก่บริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ 'BBB+(tha)' และ 'F2(tha)'ตามลำดับ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตที่บริษัทได้รับสะท้อนถึงการเติบโตและการทำกำไรที่สูง ความแข็งแกร่งของเงินทุนและคุณภาพของสินทรัพย์ของบริษัท และจุดยืนที่ชัดเจนในการเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ แต่อันดับเครดิตยังคำนึงถึงสภาพคล่องและการระดมเงินเพื่อมาขยายธุรกิจที่จำกัด ความเสี่ยงจากการกันสำรองหนี้สูญที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตสืบเนื่องมาจากการเจริญเติบโตที่สูงและการเพิ่มขึ้นของการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว อีกทั้งความเสี่ยงที่การทำกำไรจะถูกกดดันจากการที่อัตราดอกเบี้ยและการแข่งขันในธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการที่คนส่วนใหญ่หันมาใช้สินเชื่อเพื่อการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินเชื่อของสยามพาณิชย์ลีสซิ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก ถึงแม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตในอนาคตอาจจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระยะปานกลาง ระดับการใช้สินเชื่อเพื่อการบริโภค และการเป็นเจ้าของพาหนะรถยนต์ที่ยังค่อนข้างต่ำในประเทศไทย รวมถึงการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อัตราการเจริญเติบโตของสยามพาณิชย์ลีสซิ่งเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
สยามพาณิชย์ลีสซิ่งมีกำไรสุทธิในปี 2546 ที่ 780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากกำไรสุทธิที่ 775 ล้านบาทในปี 2545 การเติบโตของกำไรสุทธิที่ค่อนข้างน้อยเป็นผลมาจากผลประโยชน์ทางภาษีที่เกิดจากการมีขาดทุนสุทธิในอดีตยกมา ซึ่ง ได้หมดลงไปในปี 2545 และทางบริษัทเริ่มจ่ายภาษีเต็มจำนวนในปี 2546 อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิก่อนหักภาษีของบริษัทเพิ่มขึ้น 19% มาที่ระดับ 1.2 พันล้านบาทในปี 2546 เนื่องจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อที่สูง ณ ปัจจุบัน รายได้จากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วนถึง 90% ของรายได้ทั้งหมดของสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง อัตรากำไรและการทำกำไรในอนาคตอาจถูกแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สยามพาณิชย์ลีสซิ่งอาจจะต้องเผชิญความเสียเปรียบทางด้านต้นทุนเงินกู้ยืมเมื่อเทียบกับบริษัทเงินทุนและธนาคารพาณิชย์ เพื่อเป็นความพยายามในการลดแรงกดดันต่อการทำกำไรของบริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่งได้เพิ่มสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว (ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 31%ของสินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมด) ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า บริษัทยังเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และออกหุ้นกู้อายุยาวขึ้นที่มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง
คุณภาพของสินทรัพย์ของสยามพาณิชย์ลีสซิ่งได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 เป็นต้นมา ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงจาก 22.8% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นปี 2541 มาที่ระดับ 3.9 %ณ สิ้นปี 2546 (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เทียบกับสินเชื่อของปีก่อนลดลง จาก 19.1% ณ สิ้นปี 2541 ที่ระดับ 5.3% ณ สิ้นปี 2546) อย่างไรก็ตาม ระดับเงินสำรองหนี้สูญที่ 61.9% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นปี 2546 อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กำลังปรับตัวลดลง การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว (ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40% ของสินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมดในอนาคต) อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคุณภาพของสินทรัพย์ในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงกว่า และความไม่แน่นอนในการประเมินมูลค่าของรถยนต์ใช้แล้ว การประเมินมูลค่าของรถยนต์โดยสยามพาณิชย์ลีสซิ่งในส่วนที่ยึดเข้ามาดูเหมือนจะสูง เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้มีดารบันทึกขาดทุนจากการขายรถยนต์ที่ยึดมาจากผู้เช่าซื้อ ในระดับเฉลี่ย 10% ของยอดเช่าซื้อที่ยึดมา
นับตั้งแต่ปี 2540 สยามพาณิชย์ลีสซิ่งได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการระดมทุนเพื่อที่จะให้อายุของหนี้สินสอดคล้องกับอายุของการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ สยามพาณิชย์ลีสซิ่งได้ออก หุ้นกู้อายุ 4 ปี มูลค่าทั้งหมด 10 พันล้านบาท ในระหว่างปี 2544-2546 ทางบริษัทยังออกหุ้นกู้อายุ 3 ปี มูลค่า 3.5 พันล้านบาทในเดือน มีนาคม 2547 ในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของสินเชื่อของสยามพาณิชย์ลีสซิ่งอยู่ที่ประมาณ 2.2 ปี ในขณะที่อายุเฉลี่ยของเงินกู้ยืม อยู่ที่ประมาณ 2.1 ปี
ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของสยามพาณิชย์ลีสซิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 5.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 จาก 4.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2545 อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของบริษัทลดลงมายังระดับ 17% จาก 20.6% เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อที่สูง อย่างไรก็ตามเงินกองทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ และถึงแม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.7 เท่า ณ สิ้นปี 2546 อัตราส่วนนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ