การประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง ครั้งที่ 1/2555

ข่าวทั่วไป Monday March 19, 2012 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง ครั้งที่ 1/2555 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยข้าราชการระดับสูง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานและรองประธานตามลำดับ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านการเงินการคลังในกรอบอาเซียนร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ หน่วยงานระดับกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์กรมหาชน) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมอาเซียน ท้งนี้ การประชุมคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่เป็นเวทีหลักในการพิจารณากำหนดหรือเสนอแนะท่าที นโยบาย แนวทาง และกลไกในการดำเนินการ ตลอดจนเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหา รวมทั้ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) และเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา โดยมีประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงินการคลังภายใต้ทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ซึ่งได้แก่ ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน ประชาคมการเมือง-ความมั่งคงอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้เสนอมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการ แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์หลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จำนวน 22 มาตรการ ประกอบด้วย การเป็นตลาดและฐาน การผลิตร่วมกัน (9 มาตรการ) การเสริมมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (8 มาตรการ) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค (3 มาตรการ) และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (2 มาตรการ) สำหรับการดำเนินการในลำดับต่อไป ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการประชุมกล่มย่อย (Focus Group) ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชนในแต่ละสาขา เพื่อพิจารณาปรับปรุง/แก้ไขมาตรการต่างๆ ที่เสนอในร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และให้มีการนำเสนอความคืบหน้าของการดำเนินการตามความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ที่ประชุมรับทราบในการประชุมครั้งต่อๆ ไปด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ