สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 19 - 23 มี.ค. 55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 19, 2012 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 12 - 16 มี.ค. 55 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ระดับ 123.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อยู่ที่ 106.13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 2.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อยู่ที่ 137.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อยู่ที่ 137.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาได้แก่ :- ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% จนถึงปี 2556 - สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของกลุ่มยูโรโซนเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้น 1.3% (M-O-M) อยู่ที่ 0.2% - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ. 55 เพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือนก่อน เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบห้าเดือน - อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปริมาณส่งออกครึ่งหลังของปี 54 ประมาณ400,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้คลังน้ำมันภายในประเทศเต็ม ล่าสุดอิหร่านต้องเก็บน้ำมันบนเรือ Floating Storage และอาจต้องลดกำลังการผลิตซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการผลิตระยะยาว - Royal Dutch Shell มีแผนกลับมาดำเนินการโรงกลั่น Pernis (412 KBD) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในเดือน เม.ย. 55 หลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังพิจารณามาตรการระบายน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) ออกมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของกลุ่ม G20 ในปี 54 อยู่ที่ระดับ 2.8% ลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 5% เนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธาณะของกลุ่มยูโรโซน - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 มี.ค. 55 เพิ่มขึ้น 1.80 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 347.45 ล้านบาร์เรล - กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยยอดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเดือน ก.พ. 55 ลดลง 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ระดับ 7,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 - สาธารณรัฐประชาชนจีนขาดดุลทางการค้า (Deficit) เดือน ก.พ. 55 ที่ระดับ 31,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขาดดุลสูงสุดในรอบกว่า 22 ปี แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นหลัง EIA รายงานตัวเลขเบื้องต้นสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียในช่วง 10 สัปดาห์แรกของปี 2555 เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แสดงถึงอุปสงค์น้ำมันสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ CFTC ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค. 55 เป็นการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ของสัญญาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8,348 สัญญา อยู่ที่ 280,488 สัญญา นอกจากนี้มีความคืบหน้าการคว่ำบาตรอิหร่านของชาติตะวันตกโดยกลุ่มผู้ซื้อน้ำมันจากเอเชียกำลังพยายามต่อรองให้ยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่ครอบคลุมถึงการออกกรรมธรรม์ประกันภัยเรือขนส่งน้ำมันดิบ ทั้งนี้ผู้รับประกันภัยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กฎหมายยุโรป ทำให้ผู้ซื้อจากเอเชียไม่สามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านจะส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้รัฐมนตรีสหภาพยุโรปจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวในวันที่ 23 มี.ค. นี้ ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ WTI จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 103-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ Brent จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 121-128 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ