กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ 'BBB+(tha)' แนวโน้มมีเสถียรภาพ และระยะสั้นที่ระดับ 'F2(tha)' แก่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC อันดับเครดิตระยะยาวยังครอบคลุมถึงตั๋วแลกเงินชุดที่ T0001-T0009 ที่ออกโดย DTAC ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนสิงหาคมปี 2548
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำอันดับสองทางด้านส่วนแบ่งการตลาดของ DTAC ในธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์มือถือ ชื่อเสียงทางการค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างดี ระบบเครือข่ายที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต ส่วนแบ่งการตลาดของ DTAC ได้ลดลงอย่าง ในขณะเดียวกัน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของบริษัทเทเลนอร์ในฐานะผู้ถือหุ้นของ DTAC ในกลางปี 2543 และการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ได้ช่วยให้ DTAC สามารถสร้างจุดยืนทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นได้ ในปี 2546 DTAC สามารถเพิ่มฐานลูกค้าจำนวน 1.1 ล้านราย ส่งให้ยอดฐานลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ 29% การลงทุนจำนวนมากในการสร้างเสริมระบบเครือข่ายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีระบบเครือข่ายที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง โดยครอบคลุมถึง 92% ของพื้นที่ประชากร
อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงระดับหนี้สินที่ยังคงค่อนข้างสูงของ DTAC และการที่บริษัทมีโครงสร้างต้นทุนที่สูงกว่า AIS ในปัจจุบัน DTAC ต้องจ่ายทั้งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ ค่าเข้าใช้บริการเครือข่าย (access charge) ให้แก่บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในขณะที่ AIS จ่ายเพียงส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เท่านั้น นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนที่เกิดจากประเด็นการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ยังไม่ได้ข้อสรุป อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดในอนาคตของ DTAC และผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่นอีกด้วย
จากการเติบโตของฐานลูกค้า รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ที่สูงขึ้นและการลดลงของหนี้เสีย DTAC สามารถประกาศผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 12 พันล้านบาทในปี 2546 เพิ่มขึ้น 19% จากปี 2545 ณ สิ้นปี 2546 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อEBITDA (Net Debt/EBITDA) อยู่ที่ 3.6 เท่า ดีขึ้นจากอัตราส่วนที่สูงกว่า 4 เท่า ในช่วงที่บริษัทมีการลงทุนขยายเครือข่ายอย่างมากในปี 2544-2545 อัตราส่วน EBITDA ต่อค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย (EBITDA/Interest Expense) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 4.3 เท่า ในปี 2546 จากระดับ 2.8-3.5 เท่าในปี 2544-2545 ณ สิ้นปี 2546 DTAC มียอดหนี้ทั้งหมด 44.9 พันล้านบาท จากการคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างดีและมีการใช้เงินลงทุนในระดับที่ไม่สูงมากนัก ระดับหนี้สินของ DTAC น่าจะค่อยๆปรับตัวลดลง โดยอัตราส่วน Net Debt/EBITDA คาดว่าอยู่ในระดับ 2.5-3.0 เท่า ในปี 2547-2548 อย่างไรก็ตาม DTAC ยังมีความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทุนสำหรับไถ่ถอนแยงกี้บอนด์จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2549 นอกจากนี้หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีความจำเป็นต้องชำระเงินก้อนสำหรับการแปลงสัญญาสัมปทาน ระดับหนี้สินของ DTAC อาจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะปานกลาง ถึงแม้ว่าการแปลงสัมปทานคาดว่าจะช่วยให้โครงสร้างต้นทุนดีขึ้นในระยะยาวก็ตาม
DTAC ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2532 และได้รับมอบสัมปทานจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในปี 2533 ให้เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือภายใต้สัญญาประเภท Build-Transfer-Operate โดยบริษัทจะจ่ายส่วนแบ่งรายได้ต่อปีให้กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) DTAC จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์โดยมีมูลค่าตลาดรวมปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประกอบด้วย บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เทเลนอร์ แห่งนอรเวย์ โดยถือหุ้นในอัตราส่วน 42% และ 30% ตามลำดับ อันดับเครดิตนี้ได้ถูกริเริ่มโดยฟิทช์ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุน สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ หาได้จาก www.fitchratings.com หรือ ติดต่อ
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ธนวัฒน์ รุ่งธนาภิรมย์, นักวิเคราะห์, Corporates +662 655 4758
อรวรรณ การุณกรสกุล, กรรมการ, Corporates +662 655 4766
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ +662 655 4759--จบ--
-นท-