อาสา (ไม่) สมัคร (เล่น)

ข่าวทั่วไป Tuesday March 20, 2012 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล จากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ของคนไทยช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นน้ำใจที่หลั่งไหลของน้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ออกมาเป็นอาสาสมัคร ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลากหลายรูปแบบตามกำลังที่เขาจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการแพ็คถุงยังชีพ แพ็คกระสอบทราย ทำเสื้อชูชีพ ปรุงอาหาร หรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในศูนย์พักพิงต่างๆ ... เวลานี้ น้ำได้ลดแล้ว เหลือเพียงกองขยะ และข้าวของเสียหายจากการตั้งรับไม่ทันของน้องน้ำที่มาเร็ว และแรงเกินความคาดหมาย เกิดข้อท้าทายว่า บทบาทของเยาวชนเหล่านี้ต่อการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลดจะเป็นอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น เราจะใช้โอกาสนี้เป็นโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำงานของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อการปรับตัว และมีทักษะการจัดการฟื้นฟูร่วมกับชุมชนสำหรับเตรียมรับมือภัยพิบัติท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ได้อย่างไร !!? เครือข่ายจิตอาสา ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานด้านจิตอาสาในสังคมไทยนับสิบองค์กร จึงร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดให้มี โครงการอาสา รื้อ...ฟื้น...ชุมชน ขึ้นโดยเปิดรับสมัครอาสาสมัครร่วมฟื้นฟูชุมชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย ร่วมกับคนในชุมชน 7 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้โจทย์เรื่องการจัดการขยะ และฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลดเป็นแบบฝึกหัดในการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ และทักษะการทำงานร่วมกับชุมชน ผ่านการลงมือทำจริงในชุมชน ยกระดับจากอาสาสมัครทั่วไปเป็น อาสา (ไม่) สมัคร (เล่น) ที่ “รู้จริง” และ “ทำจริง” เพื่อให้เกิดความ “รู้จริง” ข้างต้น ทางโครงการฯ ได้จัดให้มีหลักสูตรอบรมอาสาสมัครก่อนลงชุมชน เพื่อให้มีทักษะการทำงานเป็นทีม มีความรู้เรื่องสภาพปัญหาขยะในชุมชนหลังน้ำลด การจัดการขยะ รู้ความต้องการของชุมชน ทำงานกับชุมชนเป็น สามารถวางแผนการทำงานโดยมีผู้รู้ และคนในชุมชนมามีส่วนร่วม เมื่อรู้จริงแล้ว เหล่า อาสา (ไม่) สมัคร (เล่น) จึง “ลงมือทำจริง” โดยลงชุมชนตามแผนที่วางไว้ ชุมชนละ 3 ครั้ง เริ่มชุมชนแรกที่ ชุมชนคลองลัดมะยม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร เป็นระยะเวลา 1 เดือน ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 เครือข่ายจิตอาสาได้ระดมอาสาสมัคร ประมาณ 30 คน มีนักเรียนจากโรงเรียนร่วมฤดี นิสิต นักศึกษาจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ ร่วมกับคนในชุมชน,สำนักงานเขตตลิ่งชัน, สำนักระบายน้ำ กรุงเทพฯ, โครงการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลด สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมมือกันเก็บขยะในลำคลอง เมื่อเสร็จกิจกรรมแล้วจึงถอดบทเรียนหลังการทำงาน และวางแผนการทำงานครั้งต่อไป “ลุงชวน ชูจันทร์” ประธานชุมชนคลองลัดมะยม กล่าวว่า การที่นักศึกษาได้ทำงานโดยใช้แรง ใช้มือสัมผัส เป็นเรื่องดี ทำให้อาสาสมัครได้เรียนรู้สภาพจริงของชุมชน สัมผัสและรับรู้ปัญหาที่แท้จริงของชุมชน การทำงานครั้งนี้จะเห็นว่ามีปัญหา และเราได้แก้ปัญหา “การที่ได้ทำอะไรให้ใครที่ไม่รู้จักทำให้เราใจกว้างขึ้น” ส่วนคนในชุมชนเองเมื่อเห็นว่าอาสาสมัครเข้ามาช่วยทำความสะอาดชุมชนให้ เขาก็ไม่อาจอยู่เฉยได้ ต้องลุกขึ้นมาทำความสะอาดลำคลองซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านของเขาเอง “พี่ยืน” ปิยะธิดา แอบเนียม ชาวบ้านที่ร่วมเก็บขยะกับอาสาสมัคร กล่าวเสริมว่าว่า “ยินดีที่น้องๆ มาทำกิจกรรม และได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ประทับใจน้องๆ ดูแล้วแต่ละคนน่าจะไม่เคยตากแดดเก็บขยะอย่างนี้มาก่อน วันนี้ถึงแม้จะร้อน เหนื่อย หิวข้าว แต่ทุกคนก็เต็มที่มาก เราเองก็ได้สอนน้องด้วยว่าวิธีตักขยะจากเรือทำยังไง ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ง่าย เราจะบอกเขาว่าทำยังไง ยืนตรงไหนจึงจะไม่เหนื่อย” ด้านอาสาสมัคร “น้องตูน” นางสาวชนม์นิภา ทรายสุวรรณ นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ปี 1 จากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การเก็บขยะปกติเราก็เก็บอยู่แล้ว แต่ที่ได้เก็บขยะในคลองครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก เมื่อได้มาเก็บจริงก็ทำให้รู้วิธีการเก็บ และได้รู้เหมือนกับที่ลุงชวนได้บอกก่อนลงชุมชนว่า “เก็บแล้วขยะก็กลับมาอีก” ซึ่งเห็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็ไม่เป็นไรเราก็เก็บ ในขณะที่บางที่เก็บแล้วมันก็หมดไป เป็นกำลังใจให้ได้เก็บต่อไปอีก และระหว่างนั่งเรือไปเก็บขยะยังได้เข้าไปคุยกับคนในชุมชน ได้เข้าไปดูสภาพบ้านของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งบ้านเราน้ำไม่ท่วม ทำให้เข้าใจว่าสภาพบ้านของคนที่น้ำท่วมเป็นยังไง รู้ว่าเขาอยู่ยังไง” ส่วนของ “น้องโซดา” นางสาวฐิติวรดา เซซ่ง นักศึกษาปี 4 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่บอกว่ามีโอกาสน้อยที่จะได้ออกมาจากห้องแล็บในมหาวิทยาลัย เล่าบ้างว่า “เป็นความใฝ่ฝันมานานที่อยากจะลงเรือตักขยะ รู้สึกประทับใจ ทั้งคนขับเรือ เพื่อนร่วมทีม และพี่ๆ ในชุมชน และครั้งหน้าอยากจะมาอีก” หลังจากผ่านประสบการณ์เรียนรู้ชุมชน ตากแดดเก็บขยะในลำคลองกันตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงเวลานั่งล้อมวงสรุปบทเรียนการเรียนรู้หลังทำกิจกรรมกันตอนเย็น พบว่า วันนี้อาสาสมัครได้เห็นว่า โลกกว้างภายนอกโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร เราสามารถใช้ทักษะ ความรู้ และความถนัดของตัวเองเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนที่เราก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น และเป็นการร่วมรับผิดชอบกับปัญหานั้นในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคม ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากข่าวว่า น้องๆ คนใดที่สนใจงานจิตอาสา ขอเชิญชวนมาร่วมเป็นอาสา (ไม่) สมัคร (เล่น) ที่ “รู้จริง” “ทำจริง” กันที่งาน ตลาดนัดอาสาสมัคร (Volunteer Street Fair) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม — 1 เมษายน 2555 นี้ ที่สวนเบญจศิริ สถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ โดยติดตามความเคลื่อนไหวการจัดงานใน Facebook : volunteer street fair “ตลาดนัดอาสาสมัคร” หรือ ติดตามรายละเอียดกิจกรรมอาสา (ไม่) สมัคร (เล่น) ได้ตลอดปีที่ www.volunteerspirit.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ