นักศึกษา ม.หัวเฉียว อาสา ฟื้นคืน “ห้องสมุด” ให้น้อง โรงเรียนสามวาวิทยา จังหวัดปทุมธานี

ข่าวทั่วไป Tuesday March 20, 2012 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล “น้ำลด” มาได้หลายเดือนแล้ว แต่ความช่วยเหลือจากน้ำใจ “ไทย” ที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเข้า ช่วยเหลือ — ฟื้นฟู ชุมชนผู้ประสบอุทกภัยก็ยังคงมีไม่ขาดสาย เพราะพวกเขาทราบดีว่ายังมีเพื่อนร่วมชาติอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ “รอ” อยู่ สุดสัปดาห์นี้ ที่โรงเรียนสามวาวิทยา อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โรงเรียนประถมฯ ขนาดเล็กในย่านชาวมุสลิมที่มีครูและนักเรียนรวมกันไม่ถึง 130 คน ซึ่งครั้งหนึ่งถูกมวลน้ำมหึมาเข้าโถมทับสูงกว่าเมตรครึ่งนานนับแรมเดือน ดูเหมือนจะมีชีวิตชีวา และรอยยิ้มของเด็กน้อยก็ดูเหมือนจะฉีกบานมากขึ้น ทั้งนี้เพราะมีพี่ๆ นักศึกษาจิตอาสาจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ อาสาใช้กำลังกาย — กำลังใจ เข้าฟื้นฟูห้องสมุดเก่าที่ถูกน้ำท่วม ครุภัณฑ์ถูกทำลาย ใช้การไม่ได้ ให้กลับมาเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้นอกเวลาเรียนได้อีกครั้ง... น้องเอ็ม ปณวัฒน์ พยุงตน นักศึกษา “เฟรชชี่” ชั้นปีที่ 1 ประธานโครงการเยาวชนอาสา...ร่วมพลิกฟื้นชุมชนพ้นวิกฤติอุทกภัย “กิจกรรมห้องสมุดเพื่อน้อง” เล่าถึงที่มาของโครงการครั้งนี้ว่า เกิดจากความตั้งใจของตัวเองและเพื่อนๆ ในฐานะนักศึกษาที่ไม่นิ่งดูดาย อยากช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่าที่จะช่วยได้ เริ่มต้นจากสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์เครือข่ายจิตอาสา เพื่อดูว่าพื้นที่ไหนบ้างที่น้ำเริ่มลดแล้วเพื่อจะได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ก่อนตัดสินใจเลือกโรงเรียนสามวาวิทยาและชุมชนโดยรอบเป็นพื้นที่เป้าหมาย ครั้งแรกที่ลงชุมชน เอ็มเล่าว่า ต้องใช้เรือพายเข้ามาสำรวจพื้นที่ เพราะโรงเรียนสามวาฯ เป็นพื้นที่ต่ำ น้ำยังคงท่วมขังถึงหัวเข่า ขณะที่พื้นที่ชุมชนโดยรอบเริ่มแห้งแล้ว กระทั่งปลายเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมาซึ่งน้ำที่เคยท่วมขังในโรงเรียนได้แห้งลงแล้ว เอ็มและเพื่อนๆ หลายสิบคนจึงได้ถือฤกษ์อาสาเข้าไปทำความสะอาดโรงเรียนก่อนเป็นอันดับแรก โดยมีครู นักเรียน และชาวชุมชน ให้ความร่วมมือ ... แต่การช่วยเหลือเพียงเท่านี้ เอ็มและเพื่อนๆ ก็ยังมองว่า “ไม่เพียงพอ” ที่จะทำให้ชาวชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังกิจกรรมแรกผ่านไป กลุ่มอาสานักศึกษาจึงเข้าหารือกับชาวชุมชนต่อเนื่อง จนได้มติร่วมกันว่าควรฟื้นฟูโรงเรียน โดยมีห้องสมุดเป็นจุดแรกที่ต้องเร่งฟื้นฟู ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ขนย้ายหนังสือหนีน้ำจากห้องสมุดเดิมที่อยู่ชั้นล่างให้ขึ้นมาอยู่ที่ตั้งใหม่บนชั้นสองของอาคารเรียน ที่สำคัญคือไม่ใช่งานที่ต้องใช้งบประมาณฟื้นฟูมากนัก “พอเพียง” แก่ศักยภาพของนักศึกษาที่จะเข้าฟื้นฟูได้ โดยได้ติดต่อขอรับทุนสนับสนุนตลอดจนคำปรึกษาและคำแนะนำจากโครงการเยาวชนอาสา...ร่วมพลิกฟื้นชุมชนพ้นวิกฤติอุทกภัย ซึ่งมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการเด็กและเยาวชนฯ วุฒิสภา และภาคีเครือข่าย เปิดรับสมัครเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา รวมกลุ่มทำโครงการฟื้นฟูชุมชน พร้อมๆ กับใช้โครงการนี้เป็นเวทีพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ได้รู้จักการทำงานจิตอาสา การทำงานเป็นทีม และการวางแผนงานที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จอย่างยั่งยืน “วันนี้ ผมและเพื่อนๆ ที่คณะรวมกว่า 40 คนตั้งใจมาทำห้องสมุดเพื่อน้องด้วยกัน มีกิจกรรมหลักๆ เช่น จัดชั้นหนังสือ นำหนังสือที่ได้รับบริจาคมาจากที่ต่างๆ และที่หลงเหลือจากน้ำท่วมมาจัดหมวดหมู่ใหม่ เพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งยังได้มาทำกระถางพลูด่าง ประดิษฐ์ดอกไม้ ทำม่าน ตบแต่งบานประตู - หน้าต่าง รวมถึงการทำบอร์ดนิทรรศการให้กับห้องสมุด” เอ็มเล่า พร้อมกันนี้ ในหลายๆ กิจกรรมยังได้ดึงเด็กๆ คุณครู และชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่นให้น้องๆ ได้ทดลองทำไม้กวาดทางมะพร้าวไว้ใช้เอง ทำดอกไม้ประดิษฐ์ไว้ตบแต่งห้องเรียน รวมถึงเรียนรู้วิธีการจัดเรียงชั้นหนังสือ ที่ล้วนแต่เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่เด็กๆ มีส่วนร่วมได้ ส่วนครูเองเมื่อเห็นแล้วก็สามารถนำไปสอนต่อในชั้นเรียน ขณะที่กลุ่มแม่บ้านก็ขันอาสาหาเครื่องดื่มและทำอาหารไว้รับรองอาสาสมัครได้รับประทานกันในตอนพักเที่ยง ไม่ลืมว่า “การออกแบบกิจกรรมที่เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมนี้เองที่จะเป็นกุญแจสำคัญทำให้ชุมชนเกิดความรักความหวงแหน รู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งที่พวกเขาได้ทำร่วมกัน จนเกิดเป็นความเข้มแข็ง และขยายผลไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่ในท้ายที่สุด ชุมชนก็จะสามารถลุกขึ้นมาจัดการตัวเองได้ในภายภาคหน้า” อ.รังสฤษดิ์ ศรีแก้ว ครูใหญ่โรงเรียนสามวาวิทยา พูดถึงกิจกรรมฟื้นฟูห้องสมุดของนักศึกษาว่า รู้สึกดีใจที่นักศึกษาซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประสบภัยกับตัว แต่ก็ยังมีน้ำใจลงชุมชนเพื่อช่วยฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นอกจากนี้ยังจะเป็นแบบอย่างให้แก่น้องๆ นักเรียนได้เห็นแบบอย่างความเสียสละ และความมีจิตอาสาจากพี่ๆ ซึ่งเข้ามาฟื้นฟูห้องสมุดโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้น้องๆ ได้มีแหล่งเรียนรู้นอกเวลาเรียน ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ มีทักษะอ่านออกเขียนได้ ที่แม้ปัจจุบันจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาเป็นตัวช่วยการเรียนรู้มากมาย แต่ก็ไม่อาจทดแทนหนังสือและห้องสมุดได้ ด้านน้องๆ นักเรียนเองก็รับรู้ในจุดนี้ สังเกตได้ว่าน้องๆ กล้าเล่น กล้าคุย กับพี่ๆ นักศึกษามากกว่าครั้งกิจกรรมทำความสะอาด “โดยส่วนตัว ผมรู้สึกมีความสุข และมีความหวังมากขึ้น เพราะเราเป็นโรงเรียนเล็กๆ การระดมทรัพยากรช่วยเหลือตัวเองทำได้ค่อนข้างลำบาก น้องๆ เข้ามาก็ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังมีเพื่อน ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ตามลำพัง” ครูใหญ่ของโรงเรียนสะท้อน ด้านอาสาสมัครรุ่นจิ๋วที่เข้าร่วมในกิจกรรม น้องซามี่ ด.ช.รุ่งโรจน์ จุลธีระ อายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนสามวาวิทยา เล่าความรู้สึกว่า รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะได้ห้องสมุดกลับคืนมา เพราะปกติจะใช้เวลาว่างจากการเรียนและวิ่งเล่นเข้ามาพักเหนื่อยและอ่านหนังสือในห้องสมุด “ผมได้ยินจากน้าที่เล่าให้ฟังว่าปี 38 มีน้ำท่วม แต่ผมยังเกิดไม่ทัน ตอนนั้นรถยังวิ่งได้ ส่วนปีนี้น้ำท่วมสูงมากจนพ่อต้องพาผมย้ายไปอยู่ที่อื่น ถึงกำหนดเปิดเทอมก็ยังมาเรียนไม่ได้ พ่อเลยให้ไปเรียนศาสนาที่มัสยิดก่อน ช่วงนั้นผมได้เล่นเยอะ แต่เล่นแล้วไม่ได้เรียนก็ไม่ชอบ เพราะอยากเรียนมากกว่า พี่ๆ มาช่วยฟื้นฟู เอาหนังสือใหม่ๆ มาให้ ผมก็จะเข้าไปอ่านแน่นอน” ซามี่เล่า ส่วน น้องอัยน์ ด.ญ.ฮูรุนอัยน์ วันแอเลาะ เพื่อนร่วมชั้นของซามี่ ที่เห็นได้ชัดว่าตื่นเต้นกับห้องสมุดใหม่มากกว่าเพื่อน เล่าบ้างว่า วันนี้อาสามาช่วยพี่ๆ นักศึกษาจัดหนังสือ เป็นความตั้งใจของตัวเอง เพราะรู้สึกได้ว่าพวกะพวกพี่ๆ เหนื่อยแล้ว อยากช่วยแบ่งเบาบ้าง อีกทั้งรู้สึกสงสารโรงเรียนที่ข้าวของเครื่องใช้ถูกทำลาย ครั้งนี้เมื่อทราบว่าพี่ๆ มาช่วยทำห้องสมุดก็รู้สึกดีใจ เพราะจะได้อ่านหนังสือใหม่ๆ ที่ชอบอ่านเป็นพิเศษคือหนังสือประวัติศาสตร์ไทย เพราะอ่านแล้วจะทำให้เรามีความรู้มากขึ้น ตะวันเริ่มคล้อยต่ำลง เหลือเพียงแสงแดดรำไร พระจันทร์เริ่มปรากฏกายเลือนรางอยู่บนฟากฟ้า และแล้วห้องสมุดใหม่ของน้องๆ โรงเรียนสามวาวิทยาก็เริ่มอวดโฉมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทันทีที่แจกันดอกไม้ประดิษฐ์ฝีมือน้องๆ อาสาใบสุดท้ายถูกจัดวางเหนือชั้นหนังสือ และป้าย “ห้องสมุด” สีสันสดใส ถูกประดับเหนือบอร์ดนิทรรศการหน้าห้อง น้องๆ ตัวน้อยก็ไม่รอช้า ขอหยิบจับ — จับจอง หนังสือเล่มใหม่มาอ่านโดยพลัน ก่อนที่พี่ๆ นักศึกษาอาสาจะทำพิธีมอบสื่อการเรียนรู้อีกบางส่วนมอบไว้ให้แก่โรงเรียน และบันทึกภาพที่ระลึกร่วมกันเป็นการปิดท้าย น้องติ๊มา นางสาวรชตะ กอเซ็มมูซอ อาสาสมัครนักศึกษาเล่าว่า รู้สึกประทับใจกับน้องๆ และชาวชุมชนที่มาร่วมทำกิจกรรม และให้ความร่วมมือ ช่วยพูดชวนคุย ให้ความเป็นกันเองกับนักศึกษา จนสัมผัสได้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ และความยากลำบากระหว่างน้ำท่วมว่าเป็นอย่างไร และเราจะสามารถให้กำลังใจเขาได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะน้องๆ ที่ร่วมกิจกรรมทุกอย่างด้วยความตั้งอกตั้งใจ เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะน้องๆ กำลังคิดว่าสิ่งที่ทำไปเป็นการทำเพื่อโรงเรียนตัวเอง “สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในวันนี้คือ เราสามารถทำห้องสมุดได้สำเร็จจริง สวย และน่าใช้ ตรงตามที่เราวางแผนไว้ในกำหนดเวลาเพียงแค่ 1 วัน ก่อนที่เราจะออกมาจากโรงเรียนก็ยังได้เห็นน้องๆ เข้าไปนั่งเล่น เข้าไปกุลีกุจอหยิบหนังสือมาอ่าน ก็ดีใจและภูมิใจว่าสิ่งที่เราทำมันใช้งานได้จริง เป็นครั้งแรกที่ทำกิจกรรมแล้วเรารู้สึกอย่างนี้” ติ๊มาปิดท้ายกิจกรรมด้วยน้ำเสียงมีความสุข “กิจกรรมห้องสมุดเพื่อน้อง” ที่เกิดจากจิตอาสาและความตั้งใจของเอ็มและเพื่อนๆ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย ที่นำพาทักษะความรู้ความสามารถของตัวเองเข้ารับใช้สังคม พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง จากโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เพื่อวันข้างหน้า พวกเขาจะเติบใหญ่เป็นบุคลากรที่มี “สำนึกของความเป็นพลเมือง” ของสังคมไทยเราสืบไป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ