การค้าไทย-ญี่ปุ่น ฟื้นหรือฟุบหลังวิกฤติน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Tuesday March 20, 2012 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--คต. จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งต้องจมน้ำและหยุดการผลิตลง ซึ่งร้อยละ 90 เป็นการลงทุนจากต่างชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 หดตัวอยู่ในแดนลบ นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าผลจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทย ทำให้การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 ถึง มกราคม 2555 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -11.2, -4.8 และ -10.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบางรายการกลับมีแนวโน้มการส่งออกดีขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 79.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2554 เป็น 116.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนธันวาคม 2554 และ 135.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2555 ประกอบกับมีการนำเข้าเครื่องจักรกล และส่วนประกอบในช่วงนี้ค่อนข้างสูง รวมทั้ง โรงงานอุตสาหกรรมเร่งฟื้นฟูเพื่อผลิตรถยนต์ให้เพียงพอกับยอดจองก่อนช่วงน้ำท่วม และประชาชนมีความต้องการเปลี่ยนรถใหม่เพื่อทดแทนรถคันเดิมที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมบางส่วนเริ่มฟื้นตัว สำหรับสินค้าอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า การส่งออกยังติดลบอย่างต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2555 ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์การค้าไทย-ญี่ปุ่น จะเข้าสู่สภาวะปกติในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรไปญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงมกราคม 2555 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารแปรรูป เช่น ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่น ที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว ประกอบกับแรงงานภาคการเกษตรของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปญี่ปุ่น นอกจากนี้ ไทยยังได้ประโยชน์จากการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) รวมทั้งได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากญี่ปุ่นภายใต้ระบบ GSP ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เพื่อลดต้นทุนทางการค้าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียด/สอบถามข้อมูลการขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form JTEPA, Form AJ และ Form A) เพื่อประกอบการใช้สิทธิพิเศษฯได้ที่ www.dft.go.th หรือ สายด่วน Hotline 1385 ของกรมการค้าต่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ