กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (Thailand Underground and Tunnelling Group หรือ TUTG) โดย ดร.อภิชาติ สระมูล กล่าวว่า “เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ทาง TUTG ได้เคยนำเสนอแนวคิด ระบบอุโมงค์ใต้ดินป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน MUSTS (Multi-Service Underground Tunnel System) มูลค่าลงทุน 2 แสนล้านบาท ซึ่งวางตัวอยู่ใต้แนวถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ลึกลงไป 10 เมตร ตัดยอดอุทกภัยน้ำหลาก จากบางปะอิน —บางนา - ลงสู่ทะเลที่สมุทรปราการ ระยะทาง 100 กม. ซึ่งให้ประโยชน์ 3 in 1 ได้แก่ 1.โครงสร้างชั้นล่างเป็นทางระบายน้ำหลากใต้ดินที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องผ่านชุมชนและไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณเวนคืนที่ดิน 2.ชั้นบนเป็นถนนใต้ดิน ขนาด 6 เลน รองรับการระบายความหนาแน่นของการจราจร และ 3.สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ ได้ด้วยนั้น
ภาพหน้าตัด MUSTS : โครงสร้าง 2 ชั้น, ชั้นบนเป็นถนนใต้ดิน 6 เลน ชั้นล่างเป็นทางระบายน้ำ เชื่อมระบบคูคลอง
เพื่อให้เหมาะกับสภาวะเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ( Climate Change) ในปัจจุบันที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่หนึ่ง แต่อีกหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ห่วงโซ่ผลิตอาหาร การเกษตรและปศุสัตว์
TUTG จึงได้นำมาพัฒนาเป็น MUSTS 4 in 1 โดยต่อยอดเพิ่มประโยชน์อีกหนึ่งอย่าง กล่าวคือนำน้ำอุทกภัยจากพื้นที่น้ำท่วมผ่านอุโมงค์ไปเก็บในอ่างเก็บน้ำใต้ดิน (Reservoir) หรือแก้มลิง บำบัดและส่งจ่ายน้ำผ่านเครือข่ายอุโมงค์ย่อยไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้งเพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรและอื่นๆได้ โดยเราถือเอาน้ำจากอุทกภัยเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำทั้งหมดที่จะใช้ประโยชน์หมุนเวียนได้ แทนการทิ้งเปล่าลงสู่ทะเล
ระบบอุโมงค์ใต้ดิน MUSTS 4 in 1 เพิ่มอีกหนึ่งประโยชน์โดยผันน้ำอุทกภัยไปยังพื้นที่ภัยแล้ง
ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล รองประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก กล่าวว่า “ MUSTS 4 in 1 เป็นตัวอย่างหนึ่งของการบูรณาการระบบน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยในยุคปัจจุบัน เนื่องจากการสร้างเสริมความมั่นคงทางน้ำ (Water Security) จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ด้วย หากไม่บูรณาการน้ำทั้งระบบ เมื่อเกิดภัยแล้ง จะทำให้ผลิตผลทางการเกษตรลดลง อาหารบางอย่างต้องขาดแคลน ประชาชนต้องซื้ออาหารแพงขึ้น ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้วัตถุดิบต้องประสบปัญหาการผลิตสะดุดลง อีกทั้งกระทบต่อชาวโลกที่เราจะส่งออกในฐานะที่ประเทศไทยเป็นครัวของโลกด้วย หรือตัวอย่างที่เราได้พบปัญหาจากมหาวิกฤติอุทกภัย น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ทำให้อะไหล่ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ทั่วโลกขาดแคลน ซัพพลายเชนไอทีในหลายประเทศชะงักงัน อุปกรณ์บางชนิดมีราคาแพงขึ้นจนถึงทุกวันนี้ เป็นต้น “
นายซอว์ ซอว์ เอย์ เลขาธิการ คณะกรรมการงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 กล่าวว่า “ ในระหว่างวันที่ 18-23 พ.ค.2555 ที่ประเทศไทยโดยคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG ) จะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 ( World Tunnel Congress) จะมีการถกประเด็นที่น่าสนใจ ในช่วงเปิดประชุม (Open Session) หัวข้อ การเตรียมเมืองอย่างไรให้ยั่งยืนและฟื้นตัวเร็วจากภัยพิบัติ (Planning Better and Resilient Cities) ด้วยนวัตกรรมเชิงบูรณาการ และการใช้พื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์ ทั้งนี้โดยสอดคล้องกับแคมเปญสหประชาชาติที่รณรงค์เมืองใหญ่ทั่วโลกร่วมกันวางแผนเตรียมความพร้อมปรับตัวให้เมืองยั่งยืนและฟื้นตัวเร็วจากภัยพิบัติธรรมชาติ (Making Cities Resilient Campaign) ด้วยแนวทางมาตรการ 10 ข้อ คือ 1.การจัดหน่วยงาน องค์กรให้ถูกหน้าที่และมีการประสานงานกับหน่วยงานบริหารท้องถิ่น เพื่อที่จะเข้าใจข้อมูล หรือ ปัญหาในพื้นที่ได้ดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหาย โดยให้กลุ่มพลเมืองและสังคมมีส่วนร่วม ทำให้แน่ใจได้ว่าทุกหน่วยงานเข้าใจบทบาทและหน้าที่ความทุ่มเทในการเตรียมความพร้อมและลดความเสี่ยงต่อความเสียหาย, 2.จัดสรรงบประมาณ สำหรับการบรรเทาความเสี่ยงต่อความเสียหาย และจัดงบชดเชยเยียวยาให้เจ้าของบ้าน ครอบครัวที่ยากจน ธุรกิจและภาครัฐที่ได้รับผลกระทบ, 3.ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด จัดประเมินความเสี่ยง และใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและตัดสินใจ ต้องมั่นใจว่าข้อมูลเหล่านี้และแผนงานรองรับสถานการณ์ของเมืองได้เผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบและชี้แจงปรึกษาหารือกันแล้ว, 4.ลงทุนและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เช่น ระบบระบายน้ำอุทกภัย ให้พร้อมรับกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, 5.ประเมินและหาทางป้องกันความปลอดภัยของโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานบริการสุขภาพ พร้อมปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์, 6.จัดทำและดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์ และวางแผนหลักการใช้พื้นที่ต่างๆ กำหนดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพลเมืองที่ยากจน และพัฒนาแหล่งพักพิงแก่ผู้ประสบภัย, 7.จัดฝึกอบรมและให้ความรู้ในโรงเรียนและชุมชนเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงความเสียหายจากภัยพิบัติ, 8.หาทางป้องกันระบบนิเวศของเมือง และทำแนวกันชนธรรมชาติ เพื่อลดภัยน้ำท่วม สตอร์มเซิร์จ หรือภัยอื่นๆที่อาจก่อความเสียหายแก่เมือง หาวิธีการปฏิบัติที่ดีในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสภาวะภุมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง, 9.ติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า และ ทีมงานจัดการฉุกเฉินในเมืองแต่ละแห่ง รวมทั้งการซักซ้อมเตรียมความพร้อมของประชาชน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม และ 10.หลังภัยพิบัติใดก็ตาม ต้องมั่นใจว่าประชาชนผู้ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจะได้รับความสำคัญในการฟื้นฟูเยียวยา การวางแผนล่วงหน้าและรวมถึงผู้ประสบภัยและองค์กรชุมชนไว้ในแผนที่ออกแบบและดำเนินงาน รวมทั้ง การสร้างบ้านใหม่และการยังชีพหลังภัยพิบัติ “