กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
วัณโรคยังคงเป็นโรคติดต่อที่สำคัญและเป็นปัญหาสาธารณสุข เป็นสาเหตุของการป่วยและการตายของประเทศไทย(1) โดยเฉพาะปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) ซึ่งในปี 2554 ในเขตพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี พบผู้ป่วย MDR-TB จำนวน 69 คน และตั้งแต่ปี 2552 — 2554 พบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยารุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ (Extensively drug-resistant tuberculosis: XDR-TB) จำนวน 7 คน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการควบคุมวัณโรคโดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยให้หาย ซึ่งต้องลงทุนสูง ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล การตรวจทางห้องปฏิบัติการและยาต่างๆ(2) การบริหารจัดการผู้ป่วยดื้อยาหลายขนานมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ป่วยวัณโรคทั่วไป ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยดื้อยาหลายขนาน 1 ราย สามารถรักษาผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปได้ถึง 25-30 ราย(3) และผู้ป่วย XDR-TB จะส่งผลรุนแรงการการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนและผู้ให้บริการในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทีมบุคลากรด้านสาธารณสุขที่รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมวัณโรคต้องเร่งทบทวนแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และหาหนทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด
สาเหตุของการดื้อยาของผู้ป่วยมาจากการที่ผู้ป่วยกินยาไม่สม่ำเสมอ กินยาไม่ครบตามที่กำหนด ทำให้การรักษาไม่สำเร็จแล้วยังทำให้เชื้อพัฒนาไปเป็นเชื้อสายพันธุ์ดื้อยา และก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นตามมา รวมถึงการได้รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือการรักษาที่ไม่ได้อยู่บนฐานของผลการตรวจการดื้อยาก่อนที่จะให้การรักษา และท้ายที่สุดถ้ารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ จะไม่มียาวัณโรครักษา (XDR-TB)
การป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรคสามารถทำได้โดยการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่เสมหะบวกให้หายขาดด้วยกลยุทธ์ DOTS ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุด การดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคในปัจจุบัน แม้พื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี ส่วนใหญ่จะดำเนินการได้ดี แต่ควรที่จะมีมาตรการป้องกันการเกิดผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR TB) ที่อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต อย่างจริงจังและมีการติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างใกล้ชิด
ข้อเสนอแนะมาตรการควบคุมป้องกัน
1. เน้นการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในเรือนจำ โรงพยาบาลในเขตเมืองใหญ่ แนวชายแดน และพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเอดส์สูง และให้การรักษาให้หายขาดภายใน 6 เดือน ด้วยกลยุทธ์ DOTS โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยา
2. เพิ่มความเข้มแข็งการกำกับการกินยาโดยแกนนำชุมชนหรือบุคลากรด้านสาธารณสุข
3. ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคที่มีโอกาสสูงที่จะมีภาวะการดื้อยาหลายขนาน ได้แก่
ผู้ป่วยที่มีโอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนาน ก่อนรักษา
- ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่ติดเชื้อ HIV
- ผู้ป่วยที่มีประวัติการสัมผัสกับผู้ป่วย MDR-TB รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นวัณโรคและมีประวัติการสัมผัสกับผู้ป่วย MDR-TB
- กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น : ผู้ป่วยตามแนวชายแดน ผู้ป่วยในเรือนจำ, เบาหวาน, แผลโพรงขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมี
โอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนาน ระหว่างการรักษา
- กำลังรักษาด้วยสูตรยา CAT 1 ผลเสมหะไม่แปรเปลี่ยน
- กำลังรักษาด้วยสูตรยา CAT 2 ผลเสมหะไม่แปรเปลี่ยน
- ล้มเหลว จากการรักษา CAT 1
- ล้มเหลว จากการรักษา CAT 2
- TAD Smear positive
ผู้ป่วยมีโอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนาน ภายหลังรักษาครบหรือรักษาหายแล้ว
- ผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อมีการกลับเป็นซ้ำเมื่อหยุดการรักษาหลังจากหายแล้วไม่เกิน 6 เดือน
ทั้งนี้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนควรกำหนดการส่งตรวจ (Standing Order) เสมหะ ทั้งสเมียร์และการเพาะเชื้อ เพื่อการทดสอบความไวของยา (Drug Susceptibility Test: DST) ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ดังกล่าว เพื่อเฝ้าระวังและติดตามภาวะดื้อยาได้ทันท่วงที