เจาะลึก“ไขรหัสลับช่วยซุปเปอร์สตาร์” ฟันธงรอบชิงแชมป์ระดับประเทศ เจาะกึ๋นเด็กไทย ประดิษฐ์สิ่งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหา ....ผ่านรายการวิทยสัประยุทธ์

ข่าวทั่วไป Wednesday March 21, 2012 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สสวท. สินีนาฎ ทาบึงกาฬ ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. / รายงาน ''วิทยสัปประยุทธ์” เป็นรายการที่ริเริ่มขึ้นโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ผลิตรายการโดยบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนเด็กไทยรุ่นใหม่ได้ใช้ไอเดียสร้างสรรค์ประลองความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกแขนง พร้อมกันนี้ยังเป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับการแสดงความสามารถของเยาวชนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเน้นวิธีการทำงานเป็นทีมและกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ โดยนำเสนอในรูปแบบ Reality Science Game สร้างความตื่นเต้น เร้าใจ ชวนให้ติดตาม และเชื่อได้ว่าวิทยสัประยุทธ์จะเป็นรายการที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ต่อสังคมต่อไป หนึ่งปีผ่านพันไปพร้อมๆ กับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแชมป์ประเทศไทย ตอน “ไขรหัสลับช่วยซุปเปอร์สตาร์” ระหว่างโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ. เชียงใหม่ และโรงเรียนดาราสมุทร จ. ชลบุรี ในรายการวิทยสัประยุทธ์ซึ่งออกอากาศไปเมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2555 เวลา 18.00-18.55 น. ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 การแข่งขันรอบนี้มีอุปกรณ์พื้นฐานให้เพียง 3 อย่าง ได้แก่ กระบะทราย 1 ชุด (ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร สูง 50 เซนติเมตร) ลูกกุญแจ 3 ดอก (กุญแจเหล็ก ทองเหลือง และพลาสติก) และประตูตู้เซฟที่จองจำซุปเปอร์สตาร์ ภารกิจในครั้งนี้คือ ผู้แข่งขันจะต้องออกแบบและสร้างกลไกหรือสิ่งประดิษฐ์ในการปฏิบัติ 4 ภารกิจให้สำเร็จ โดยขออุปกรณ์เสริมได้ทีมละไม่เกิน 10 ชนิด ภารกิจที่ 1 สร้างกลไกหากุญแจซึ่งฝังอยู่ในกระบะทรายที่กำหนดให้ โดยมีโอกาสแก้ไขกลไกระหว่างการแข่งขันได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ภารกิจที่ 2 สร้างกลไกในการนำกุญแจที่หาได้นำส่งกลับมายังพื้นที่การทดลอง ซึ่งห่างออกไป 4 เมตร ภารกิจที่ 3 นำกุญแจที่ได้มา ผู้แข่งขันจะต้องนำมาใช้ในการเปิดกล่องคำถาม ซึ่งคำตอบของแต่ละคำถาม ซึ่งประกอบไปด้วยวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ จะเป็นรหัส 4 ตัวในการเปิดประตูตู้เซฟ และภารกิจที่ 4 สร้างกลไกในการกดรหัสที่แป้นกด ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 9 เมตร เพื่อช่วยซุปเปอร์สตาร์ออกมาให้ได้ก่อนหมดเวลา โดยเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 30 นาที......................แค่ฟังก็ขนลุกแล้ว ภารกิจวันนี้สุดหินจริงๆ เยาวชนทั้งสองทีมมีเวลา 4 ชั่วโมงในการสร้างอุปกรณ์เพื่อแก้ปัญหาและเตรียมการนำเสนอต่อคณะกรรมการ และใช้เวลา 30 นาทีในการทดลอง ในช่วงทดลองผู้แข่งขันไม่สามารถออกมาจากพื้นที่การทดลองได้ กลไกในการทำภารกิจต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นกลไกเดียวกันทั้งหมดทุกภารกิจ และนอกจากนั้นทั้งสองทีมยังต้องอธิบายหลักการทำงานพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการแก้โจทย์ต่อคณะกรรมการและคู่แข่งขัน รวมทั้งนำเสนอวิธีการนำหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันด้วย แต่ละทีมล้วนขับเคี่ยวฝีมือประลองกันแบบสูสี และมีจุดเด่นต่างกัน เช่น โรงเรียนดาราสมุทรโชว์ลีลาการนำเสนอแบบอาชีพผ่านละครหรือบทบาทสมมติเป็นโจรสลัด และแบ่งหน้าที่การนำเสนอเป็นทีมได้อย่างสอดคล้องน่าประทับใจ ในส่วนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยนั้นมีการประดิษฐ์กลไกจากวัสดุที่หาได้ทั่วๆ ไป พึ่งพาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์น้อย เป็นต้น สุดท้ายผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมที่ชนะเลิศคือโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ. เชียงใหม่ ผู้แข่งขันประกอบด้วยนายดนย์ วงษ์ยะรา นายคนธรรม ธรรมวงศ์ นายสมพร บุญปราบ พร้อมรับรางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมกับเดินทางไปดูงานที่สถาบันวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ผลงานของทีมชนะเลิศมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้หลายเรื่อง ส่วนใหญ่จะใช้ความรู้ในวิชาฟิสิกส์ เช่น เรื่องของแรงโน้มถ่วง แรงดึงในเส้นเชือก พลังงานศักย์ (โน้มถ่วง) พลังงานศักย์ (ยืดหยุ่น) พลังงานจลน์ และหลักการของของไหล (แบร์นูลลี) เป็นต้น นายคนธรรม ธรรมวงศ์ (ตุลย์) เพิ่งจบชั้น ม. 6 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย กำลังก้าวเข้าสู่รั้วคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนุ่มน้อยที่รักในการเรียนฟิสิกส์ และใฝ่ฝันอยากเป็นนักประดิษฐ์ สร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ขึ้นมา พร้อมทั้งอยากทำงานด้านพลังงานทดแทน คนธรรมเล่าว่าแรงบันดาลใจในด้านดังกล่าวเกิดจากการได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ ม.ต้น ทำให้มีใจรักในวิชาวิทยาศาสตร์ และชอบทำโครงงานวิทยาศาสตร์มาหลายชิ้นงาน นอกจากนั้นแรงบันดาลใจอีกสิ่งหนึ่งก็คือการที่ได้เห็นการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์มากมายที่พระองค์ทรงคิดค้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้พสกนิกรชาวไทย “การได้เข้าร่วมแข่งขันเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า เพราะได้ฝึกสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนหลายอย่างนับไม่ถ้วน ทั้งการใช้เครื่องมือช่างที่ไม่เคยเห็น การได้ลงมือประดิษฐ์สิ่งต่างๆตามแนวคิด ทำให้ทราบว่ากว่าจะประดิษฐ์อะไรสักอย่างนึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งทั้งหมดเหล่านี้ก็ทำให้เราได้ฝึกความอดทนความพากเพียรพยายาม และ ฝึกกระบวนการคิดการแก้ปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี” นายดนย์ วงษ์ยะรา (ดนย์) เพิ่งจบชั้น ม. 6 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเข้าสู่การเป็นน้องใหม่ในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การเร่วมรายการดังกล่าว ทำให้ไห้ทักษะในการวางแผน ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กรักเรียนวิทยาศาสตร์แต่เลือกเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ เพราะความชอบส่วนตัว แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับตนเองแล้ว พื้นฐานที่ดีทางวิทยาศาสตร์ จะช่วยเสริมในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน เป็นเหตุเป็นผลซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีในการศึกษาเรียนรู้ขั้นต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น หนุ่มน้อยคนนี้บอกกับเราว่า ในอนาคตถ้าตั้งตัวได้หรือมีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง ก็อยากจะนำเงินไปพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เช่น สร้างห้องทดลองของตนเอง หรือสนับสนุนสถานศึกษาเกี่ยวกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นดนย์กล่าวว่าการแข่งขันรายการนี้เป็นโอกาสหนึ่งที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในชีวิต อยากให้น้อง ๆ โรงเรียนต่างๆ สมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมกันมาก ๆ นายสมพร บุญปราบ (เบียร์) จากนักกิจกรรมตัวยงของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก้าวสู่การเป็นน้องใหม่ของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่าชอบเรียนวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ ม. ต้น พอเริ่มเรียนก็ชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ บอกว่า ทีมของเราตั้งใจสร้างกลไกแก้ปัญหาที่ใช้พลังงานน้อยที่สุด สร้างกลไกใหม่ที่พึ่งพาอุปกรณ์สำเร็จรูปน้อยที่สุด ส่วนทีมรองชนะเลิศ จากโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ นายณัฐชนน อนุรพันธ์ (นนท์) นายศุภณัฐ หอมตระกูล (เจเจ) นายกิตติวัฒน์ อิทธิสารรณชัย (เกม) สร้างผลงานโดยมีอุปกรณ์สองชิ้นที่สำคัญ คือ เครื่องตรวจจับโลหะ และรถวิทยุบังคับติดคราดขุดทราย หนุ่มน้อยทั้งสามคนเป็นเด็กรักเรียนวิทยาศาสตร์คนละสไตล์ โดยนนท์ ชอบเรียนฟิสิกส์ เจเจ ชอบเรียนคณิตศาสตร์ ส่วนเกมนั้นชอบเรียนเคมี ทั้งสามคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประทับใจที่ได้มีส่วนร่วมในรายการวิทยสัปประยุทธ์ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เยาวชนและผู้ชมหันมาสนใจที่จะเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น ผลจากการดำเนินงานภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ปรากฏว่า รายการนี้สามารถคว้ารางวัลมาการันตีคุณภาพได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภทสาขาเกมโชว์ยอดเยี่ยม จากเวที ASIAN TELEVISION AWARDS 2011 ครั้งที่ 16 ประจำปี 2554 ณ ประเทศสิงคโปร์ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทรางวัลรายการส่งเสริมความรู้ทั่วไปดีเด่น จากชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ ครั้งที่ 26 ประจำปี 2554 และรางวัลเมขลา ครั้งที่ 24 รายการส่งเสริมความรู้และการศึกษามณีเมขลาดีเด่นยอดนิยม ผู้สนใจติดตามชมได้ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 และเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/vittayatv

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ