กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--วช.
"มะเร็งลำไส้ใหญ่" ในประเทศไทยพบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิงโดยเฉลี่ยอายุมากกว่า 50 ปี สาเหตุเกิดมาจากพันธุกรรมหรือเกิดการอักเสบภายในลำไส้ใหญ่รวมไปถึงริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นมะเร็งทางทวารหนักได้ อย่างไรก็ดีหากกล่าวถึงอุบัติการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยทั่ว ๆ ไปจะพบว่า ในทวีปเอเชีย จะน้อยกว่าทวีปยุโรปและอเมริกาเนื่องจากทวีปเอเชียมีการบริโภคอาหารที่เป็นพืชผักมากกว่าทวีปอื่น ๆ ซึ่งอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติต้านมะเร็งสามารถกำจัดสารก่อมะเร็งลำไส้ได้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ และคณะ จากภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์หาสารต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่จากตะไคร้" เพื่อแยกส่วนสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จากตะไคร้ โดยศึกษาผลของสารสำคัญที่แยกได้ต่อการป้องกันการเกิดความผิดปกติของเซลล์ลำไส้ใหญ่หลังจากได้รับสารก่อมะเร็งเอซอกซีมีเทน เพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนาตะไคร้เพื่อใช้ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อนำลำต้นของต้นตะไคร้มาทำให้แห้งและอบที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส ปั่นให้เป็นผงละเอียดและนำมาเก็บไว้ในตู้เย็น เขย่าในเอทานอล 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำสารสกัดไปเขย่าด้วยเฮกเซน เอทธิลอะซีเตทและบิวทานอลตามลำดับจะได้สารสกัดสี่ส่วนคือส่วนที่ละลายในเอทานอล ส่วนที่ละลายในเฮกเซน ส่วนที่ละลายในเอทธิลอะซีเตท และส่วนที่ละลายในบิวทานอล จากนั้นนำไปทำให้แห้งเพื่อทดสอบกับหนูขาวพันธุ์ Wistar ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดจากตะไคร้ที่ละลายในเฮกเซนยับยั้งมะเร็งได้โดยสารสกัด 2 ชนิดจากตะไคร้คือ citral และ geraniol มีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่ต้านมะเร็งและยังมีสารจำพวก terpenoid ที่มีศักยภาพต้านมะเร็งได้ดีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ตะไคร้ยังมีคุณสมบัติที่สามารถลดระดับโคเลสเตอรอลได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องผ่านกระบวนการสกัดการแยกองค์ประกอบทางเคมีก่อน--จบ--
-นท-