ซีอีโอสถาบันการเงินทั่วเอเชียร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ ถกประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกและภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 16, 2012 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ธนาคารกรุงเทพ ซีอีโอของสถาบันการเงินจากทั่วเอเชียร่วมถกประเด็นที่กำลังเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลก และหัวข้อเกี่ยวกับการปฏิรูปนโยบายการกำกับดูแลภาคการเงิน ในการประชุมประจำปีระดับซีอีโอของสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียที่เป็นสมาชิก The Institute of International Finance (IIF) หรือ สถาบันแห่งการเงินนานาชาติ ซึ่งในปีนี้ธนาคารกรุงเทพได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ในช่วงวันที่ 13-15 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในประเทศไทย นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในช่วงท้ายของการประชุมว่า “การประชุมในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมและธนาคารกรุงเทพรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ สถาบันแห่งการเงินนานาชาติ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นความท้าทายหลักๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน ธนาคารขอขอบคุณ ท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ให้เกียรติสละเวลามาเข้าร่วมประชุมกับเราในครั้งนี้” ภาคีสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เป็นการรวมตัวกันของสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 450 องค์กรจาก 70 กว่าประเทศ นายฮุง เจิ๋น รองกรรมการผู้จัดการ และที่ปรึกษาของสถาบันแห่งการเงินนานาชาติ กล่าวว่า “ขอขอบคุณ คุณชาติศิริ และทีมงานจากธนาคารกรุงเทพ ตลอดจนเพื่อนพันธมิตรในภาคการเงินไทย ที่ทำให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จและสัมฤทธิ์ผลตามความคาดหวัง“ “การประชุมของเราในครั้งนี้ จัดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความน่ากังวลเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวของผลผลิตและการจ้างงานทั่วโลก โดยภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สดใสเท่าใดนัก และคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกรวมทั้งภูมิภาคเอเชียจะชะลอตัวลง แม้ว่าตลาดในเอเชียและตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่นๆ จะยังสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและการเร่งลดภาระหนี้สินของธนาคารในยุโรปด้วยการหาเงินทุนจากการเพิ่มทุน หรือการเร่งขายสินทรัพย์สภาพคล่องจนเกิดการขาดทุนหรือเสียโอกาสทำกำไรที่พึงได้ (deleveraging) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้อุปสงค์ของสินค้าส่งออกในตลาดโลกปรับตัวลดลง และธนาคารในยุโรปปล่อยกู้ให้เอเชียลดลง ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มประเทศ จี20 จำเป็นต้องมีกรอบการดำเนินการด้านความร่วมมือเชิงนโยบายระหว่างประเทศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของบรรดาตลาดเกิดใหม่ชั้นนำต่างๆ รวมทั้งตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง การแก้ไขช่องว่างระหว่างประเทศที่เกินดุลและประเทศที่ขาดดุล ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการ ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ ก็คือการมุ่งสะสางปัญหาของประเทศในยุโรป การแก้ไขปัญหาของความไม่สมดุลทางการคลังในประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมทั้งการปฏิรูปกฎระเบียบในการกำกับดูแลภาคการเงิน ที่บรรลุความสมดุลของจุดหมายที่ขัดแย้งกัน ระหว่างการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน และการส่งเสริมการขยายตัวของสินเชื่อ” นายเจิ๋น กล่าวเพิ่มเติม ในการประชุมครั้งนี้ ยังมีการจัดเสวนาพิเศษ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคและความท้าทายด้านนโยบาย การพัฒนาและการเชื่อมโยงกันของตลาดเงินในเอเชีย อีกทั้งโอกาสและประเด็นปัญหาสำคัญของภาคการธนาคารในเอเชีย โดยมี ดาโต๊ะ ศรีนาเซียร์ ราซัค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มซีไอเอ็มบี นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดาโต๊ะ ศรีโอมาร์ อับดุล วาฮิด กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาลายัน แบงกิ้ง เบอร์ฮาร์ด (เมย์แบงก์) สลับเป็นประธานในการเสวนาในหัวข้อต่างๆ ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญของการพัฒนาบทบาทของธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียในฐานะตัวกลางที่เชื่อมโยงหน่วยเศรษฐกิจที่มีสภาพคล่องส่วนเกินและที่ขาดสภาพคล่อง และการพัฒนาตลาดทุนสำหรับภูมิภาคนี้ควบคู่กันไป ภาคการธนาคารยังคงมีบทบาทสำคัญเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งในด้านการเป็นสื่อกลางในการออม การอำนวยสินเชื่อให้แก่ผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจ การสนับสนุนด้านการเงินแก่กิจการด้านการค้าและโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับประชาชน นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นตรงกันว่า การพัฒนาตลาดทุนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น และยินดีที่ได้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาทิเช่น การพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ในระดับภูมิภาคสำหรับนักลงทุนมืออาชีพ Asian Fund Passport (การส่งเสริมการลงทุนข้ามชาติในตราสารในภูมิภาคเอเซียโดยสนับสนุนให้กฎระเบียบและกลไกของตลาดมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน) และ Asian Banking Framework (การพัฒนากรอบการธนาคารพาณิชย์ที่เป็นมาตรฐานในเอเชีย เช่น กรอบมาตรฐานการประสานด้านการกำกับดูแล กรอบมาตรฐานการขยายสาขา กรอบมาตรฐานการขอใบอนุญาต เป็นต้น) นอกจากนี้ วงเสวนายังชี้ให้เห็นว่าการเร่งรัดดำเนินโครงการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นอย่างเต็มที่จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของตลาดและโอกาสทางธุรกิจสำหรับธนาคารและสถาบันการเงิน หัวข้อสุดท้ายของการประชุม เป็นการเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับผลกระทบจากการปฏิรูปการกำกับดูแลด้านการเงินโลกที่มีต่อภูมิภาคเอเชีย โดยมีนายชาติศิริ โสภณพนิช เป็นประธานนำการเสวนา ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของการปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลด้านการเงินของโลก ที่มุ่งเพิ่มคุณภาพและปริมาณของเงินทุนธนาคาร อีกทั้งการสอดส่องดูแล การกำกับและการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงิน ด้วยจุดมุ่งหมายด้านเสถียรภาพของระบบโดยรวมในระดับมหภาค (Macroprudential oversight, supervision and resolution) ผู้ร่วมเสวนาเล็งเห็นความสำคัญการปฏิรูประบบการกำกับดูแลที่สร้างความสมดุลระหว่างการมุ่งส่งเสริมเสถียรภาพของระบบการเงิน ความมีประสิทธิภาพของระบบ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ภาคการเงินสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วย โดยในประเด็นดังกล่าว ผู้ร่วมเสวนาได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงอันอาจเป็นผลมาจากกลไกการกำกับดูแล เช่น การกำหนดให้สถาบันการเงินบางประเภทต้องดำรงระดับเงินกองทุนที่สูงกว่ามาตรฐานปรกติมากเกินไป การมองปัญหาแยกเป็นส่วนๆ และการกำหนดให้ต้องดำรงสภาพคล่องในระดับที่ไม่เหมาะสม จนเป็นผลให้ธนาคารต้องทำการลดภาระหนี้ (deleveraging) ทำให้จำกัดโอกาสของธนาคารในการขยายสินเชื่อ รวมทั้งจำกัดบทบาทธนาคารในการสนับสนุนการเติบโตของผลผลิตและการจ้างงาน แม้ว่าสถาบันการเงินต่างๆ ในเอเชียอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างมีความพร้อมและแข็งแกร่ง กฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เกินจำเป็นอาจยังก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ภาคการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ ผู้เข้าร่วมเสวนายังมีความเห็นสนับสนุนให้ภูมิภาคเอเชียมีบทบาทมากขึ้นในทั้งเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก อีกทั้งประสงค์ให้ IIF เพิ่มความสำคัญเป็นพิเศษแก่สถาบันการเงินในเอเชีย สำหรับประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมนั้น นายเจิ๋นกล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของ IIF ในการสนับสนุนเสียงสะท้อนหรือความคิดเห็นของภาคการเงินธนาคารในเอเชียให้มีความสำคัญในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าสถาบันการเงินในเอเชียมีอิทธิพลและความสำคัญสูงขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนของ IIF ในเอเชียที่นครปักกิ่งในปีที่ผ่านมาก็ดี กิจกรรมที่ IIF จัดขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปีของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียก็ดี การจัดประชุมในเรื่องต่างๆ ในระดับภูมิภาคก็ดี และการประชุมร่วมกับภาครัฐ องค์กรการกำกับดูแล ผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน และนักการธนาคารอาวุโสจากสถาบันการเงินทั่วโลกก็ดี ล้วนเป็นสิ่งย้ำเตือนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญ IIF ของภูมิภาคเอเชีย ผู้เข้าร่วมการประชุมเห็นด้วยและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินต่างๆ ในเอเชียในคณะกรรมการของ IIF คณะกรรมาธิการ และคณะทำงานสำคัญๆ ต่างๆ ตลอดจนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีบทบาทนำในสภาที่ปรึกษากิจการเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นด้วยกับการกำหนดจัดประชุมสมาชิกประจำปี 2012 ของ IIF ที่นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ