กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--stop teen mom
STOP TEEN MOM หยุด! การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ มุ่งหยุดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เน้นสื่อสารครอบคลุมไปถึงกลุ่มวัยรุ่นชาย ให้ตระหนักถึงผลที่จะตามมาจากการก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ดึงตัวแทนศิลปิน เก้า — จิรายุ ละอองมณี สร้างกระแส พร้อมกิจกรรมเข้าถึงวัยทีนเต็มรูปแบบ หวังสร้างจิดสำนึก และสร้างเครือข่าย ป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน
ณ ลานดิสคัฟเวอรี่พลาซ่า สยามเซ็นเตอร์ ได้จัดให้มีการเปิดตัว แคมเปญ “ลองท้องมั้ย” (แล้วเธอจะรู้สึก) ในโครงการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ในวัยรุ่น ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ STOP TEEN MOM หยุด! การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เพื่อร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักในสังคมไทย ถึงปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ซึ่งครั้งนี้จะเน้นการสื่อสารกับกลุ่มวัยรุ่นชายเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ และก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาเร่งด่วนของสังคมไทยในขณะนี้
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก นางนวลพรรณ ล่ำซำ หัวหน้าคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อน การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ โครงการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ หรือ STOP TEEN MOM หยุด! การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เป็นประธานในพิธี พร้อมกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ของแคมเปญ ได้แก่ “เก้า — จิรายุ ละอองมณี” กิจกรรม Teen Mom Flash Mob การรวมกันของวัยรุ่นชายแต่งชุดคนท้อง เต้นประกอบจังหวะในรูปแบบ Flash Mob หน้าสยามเซ็นเตอร์ ต่อด้วยการเสวนากับศิลปินดาราและวิทยากรรับเชิญในหัวข้อ “การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ใครกันแน่คือต้นเหตุ?”
พร้อมกันนั้น ยังมีการเขียนข้อความ “สัญญาผ้าเช็ดหน้า” ร่วมกัน ซึ่งมาจากสัญลักษณ์ที่คนไทยมีแนวคิดที่ว่าผ้าเช็ดหน้าคือลางบอกความเศร้า จึงใช้สิ่งนี้มาสื่อถึงความเสียใจหากเกิดการท้องก่อนเวลา อันควร โดยมีตัวแทนเยาวชนร่วมเขียน “สัญญาผ้าเช็ดหน้า” เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมเป็นส่วนสำคัญของการหยุดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี แขวนไว้บนโครงขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาจากโลโก้โครงการฯ ปิดท้ายด้วยการแสดงโดยพรีเซ็นเตอร์แคมเปญ และคอนเสิร์ตจากศิลปินวัยรุ่น เนโกะจัมพ์ (Neko Jump) และเคโอติก (K-OTIC) ก่อนจะมีกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยการจัดงานได้รับความสนใจจากเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ภาคีร่วมโครงการ รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยพบว่า ในปีพ.ศ. 2552 ผู้หญิงซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร มีจำนวนร้อยละ 13.55 และในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.76 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10 และจากข้อมูลล่าสุดในปี 2554 มีหญิงวัยรุ่นซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร ประมาณ 100,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กหญิงที่ตั้งครรภ์มีช่วงอายุอยู่ในวัยอ่อนเยาว์ ลงเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาสังคม ที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน
“จากปัญหาดังกล่าว โครงการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือ STOP TEEN MOM : หยุด! การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น จึงเกิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ที่ควรมีความพร้อมตั้งแต่การครองคู่เพื่อเสริมสร้างครอบครัวที่อบอุ่น และลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างสังคมไทยที่เข้มแข็งในอนาคต ผ่านกิจกรรมรณรงค์ต่างๆที่ได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง
และล่าสุดกับ แคมเปญ “ลองท้องมั้ย” (แล้วเธอจะรู้สึก) ที่จะขยายการณรงค์ให้เด่นชัดในกลุ่มวัยรุ่นชาย ซึ่งมาจากข้อมูลที่พบว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เกิดขึ้นจากความรักในวัยรุ่น ซึ่งวัยรุ่นหญิงและชายมีมุมมองในเรื่อง “ความรัก” ต่างกัน ขณะที่วัยรุ่นหญิงมองว่าความรักคือความผูกพันทางจิตใจ แต่วัยรุ่นชายกลับคิดว่าความรักเป็นเรื่องเดียวกันกับการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการรณรงค์ป้องกันอย่างต่อเนื่อง ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และสร้างความตระหนักในสังคมไทย ถึงปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น แคมเปญนี้ จึงเน้นสื่อสารกับกลุ่มวัยรุ่นชายเป็นหลัก เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ และขยายผลสู่การมีส่วนร่วมในระยะยาวร่วมกันของทุกภาคส่วน”
นางนวลพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหลักของโครงการฯ นั่นคือ เพื่อลดหรือชะลอปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นของสังคมไทยให้น้อยลงที่สุด และอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10 โดยใช้แนวทางการขับเคลื่อนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่จะตามมาในทุกๆ ภาคส่วนของสังคมเป็นหลัก
“ส่วนสำคัญที่จะทำให้การรณรงค์สัมฤทธิ์ผล คือการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมเพื่อป้องกันปัญหาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งการขับเคลื่อนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ จะมุ่งให้เกิดผลในภาพรวมมากขึ้น เพราะยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าการตั้งครรภ์ของเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีนั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย และส่งผลต่อสังคมไทยในอนาคตอย่างไร ซึ่งสาเหตุก็มาจากหลายส่วน ทั้งครอบครัว ตัวเด็กเอง และสังคมโดยรวม ดังนั้นเราจึงมุ่งวางแผนการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องด้วยช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ผ่านสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค และการสร้างเครือข่ายป้องกันปัญหาสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา ร่วมถึงการทำสปอตโฆษณา และกิจกรรมต่างๆให้ต่อเนื่องมากที่สุด” นางนวลพรรณ กล่าว
คุณนภาพร เมฆาผ่องอำไพ จากศูนย์ประชาบดี กล่าวถึงแง่มุมต้นเหตุของปัญหาหรือปัจจัยที่พบ ที่ส่งผลต่อสถิติการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรที่มีจำนวนสูงมากจนน่าตกใจว่า
“ทางศูนย์ประชาบดี 1300 เป็นหน่วยงานซึ่งรับเรื่องราวร้องทุกข์ และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นเสมือนคนกลางในสังคมที่มองเห็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร จากการที่เราได้ลงพื้นที่และเข้าถึงปัญหา พบว่ามีสาเหตุหรือปัจจัยหลายอย่าง แต่สามารถสรุปเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ เช่น มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยก แต่ไม่ได้หมายความว่าการเป็นคุณแม่ หรือคุณพ่อที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว แต่ส่วนใหญ่มาจากความไม่อบอุ่นของครอบครัวมากกว่า สาเหตุต่อมาได้แก่การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในปัจจุบันเด็กถูกล่วงละเมิดจากคนใกล้ตัว คนในครอบครัว หรือเพื่อนชายมากขึ้น และสาเหตุสุดท้ายคือสิ่งของมึนเมา เช่น สุรา ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ทั้งนี้ การป้องกันจะต้องเริ่มที่ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวให้ลดน้อยลง รวมถึงการให้การศึกษา และสร้างความเข้าใจ เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันกับตัวเด็กเองให้มากที่สุด” คุณนภาพร กล่าว
ด้านอาจารย์นคร สันธิโยธิน กล่าวว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการป้องกันปัญหาฯ ก็คือการให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้อง ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน สื่อ และสังคม โดยต้องมีแนวทางที่จะสอนเรื่องเพศศึกษาในกลุ่มวัยรุ่นอย่างถูกวิธีและเหมาะสม เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจ และลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น
“เราควรที่จะเริ่มปูพื้นฐานเรื่องเพศศึกษา เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวไปถึงสถาบันการศึกษา โดยทั้งพ่อแม่ และครูอาจารย์ควร จะต้องเริ่มปูพื้นฐานให้กับเด็ก วางทัศนคติที่ดีให้เกิดขึ้น ซึ่งผู้ใหญ่จะต้องเปิดใจให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ที่สื่อและสิ่งเร้าต่างๆมีมากเกินกว่าจะควบคุม เพราะหากผู้ใหญ่ไม่เปิดใจ ตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เด็กก็จะขาดภูมิคุ้มกัน ขาดกระบวนการในการตัดสินใจที่ รอบด้าน ซึ่งจะทำให้เด็กต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง และเกิดการต่อต้านทางความคิด ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด อย่างในสถานศึกษา ต้องมีการจำลองเหตุการณ์ ให้เกิดกระบวนการคิด การแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยไม่มีผิดหรือถูก ชี้ให้เด็กได้เห็น ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น และสะท้อนมุมมองกลับไปยังตัวเด็ก และที่สำคัญผู้ใหญ่ควรที่จะต้องมองให้ไกล เปิดใจกว้าง และวางให้ได้” อาจารย์นคร กล่าว
ทั้งนี้ แคมเปญ “ลองท้องมั้ย” (แล้วเธอจะรู้สึก) ประกอบด้วยกิจกรรมการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเปิดตัว เฟสบุค Young Rak Dee (ยังรักดี) เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารและกิจกรรมต่างๆ การโรดโชว์ไปยังสถานที่ชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และไฮไลท์กับการเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ในการสื่อสารแคมเปญที่เป็นตัวแทนกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นชาย ได้แก่ “เก้า - จิรายุ ละอองมณี” ที่มาในชุดคลุมท้องที่สื่อถึงปัญหาและความยากลำบากหากเกิดการตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่ ไม่เหมาะสม ซึ่งเก้า - จิรายุ ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า
“ผมขอฝากถึงวัยรุ่นไทยที่อยู่ในวัยเรียนทุกๆคนนะครับ ว่าอย่าปล่อยให้ความสุขเพียงไม่กี่นาที ทำให้เราต้องเสียหลายอย่างในอนาคตไป ทั้งเพื่อนผู้หญิง ที่หากยอมและปล่อยให้เกิดปัญหา อาจต้องเสียอะไรมากกว่าผู้ชาย ส่วนผู้ชาย ที่สำคัญที่สุด อยากให้คิดดูให้ดีว่าถ้าตัวเราเองต้องเกิดเป็นคนที่ท้องจะรู้สึกยังไง ผมเองมาใส่ชุดเหมือนลองท้องแบบนี้ แค่ไม่กี่นาทีก็ทรมานมาก และก็เข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงว่าเขาจะต้องลำบากแค่ไหน หนักไปทั้งตัว มันหนักและกดลงมาที่ท้อง เข้าห้องน้ำบ่อยด้วยครับ และต้องทนตลอดช่วงอุ้มท้อง 9 เดือน คือถ้าไม่ลองท้องเองจะไม่รู้แน่นอน อยากให้วัยรุ่นไทยทุกๆคน คิดให้ดี คิดให้มาก ก่อนทำอะไรนะครับ เพราะผิดพลาดไป เหมือนเราทำลายอนาคตของตัวเองทั้งหญิงและชาย” เก้า จิรายุ กล่าว
อนึ่ง แคมเปญ “ลองท้องมั้ย” (แล้วเธอจะรู้สึก) ในโครงการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ หรือ STOP TEEN MOM หยุด! การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่างๆของโครงการได้ทาง www.facebook.com/ youngrakdee ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป