รายได้รัฐบาลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555

ข่าวทั่วไป Friday March 23, 2012 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 138,979 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7,310 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — กุมภาพันธ์ 2555) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวนเท่ากับ 670,664 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 25,320 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้ 1. เดือนกุมภาพันธ์ 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 138,979 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,310 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจหลังจากอุทกภัย ได้ส่งผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้าสูงกว่าประมาณการ 5,781 และ 1,679 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้นำส่งค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย จำนวน 1,247 ล้านบาท ซึ่งเลื่อนมาจากเดือนธันวาคม 2554 ส่วนภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.6 เป็นผลจากการขยายเวลาลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท จากเดิมที่ประมาณการว่าจะทยอยปรับอัตราภาษีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นไป ข้อสังเกตที่สำคัญ - ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้ปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากที่อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยในเดือนนี้จัดเก็บได้ถึง 8,369 ล้านบาท (ต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย) เทียบกับ เดือนพฤศจิกายน 2554 — มกราคม 2555 จัดเก็บได้ 3,545 5,270 และ 6,123 ล้านบาท ตามลำดับ - ภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว มีอัตราการขยายตัวถึง ร้อยละ 44.6 เป็นผลจากการขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยที่ครบกำหนดยื่นแบบฯ ภายในเดือนสิงหาคม — กันยายน 2554 มาเป็นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 2. ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554— กุมภาพันธ์ 2555) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 670,664 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 25,320 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.5) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมศุลกากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 12,894 2,881 และ 4,204 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ การคืนภาษีของกรมสรรพากรยังต่ำกว่าประมาณการ 13,445 ล้านบาท ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ 2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 491,151 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 12,894 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.6) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าประมาณการ 6,588 และ 3,062 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 และ 2.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าสูงกว่าประมาณการร้อยละ 8.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 23.9) สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.6) 2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 141,624 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 8,883 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.0) สาเหตุสำคัญมาจากภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ ต่ำกว่าประมาณการ 11,150 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.1 เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,983 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 61.9) ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท อย่างไรก็ดี ภาษียาสูบและภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,228 และ 1,827 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 14.4 และ 7.0 ตามลำดับ เนื่องจากผู้จำหน่ายได้เร่งการสั่งซื้อเพื่อทดแทนสต๊อกเก่าที่ไม่สามารถ สั่งซื้อสินค้าได้ในช่วงเกิดอุทกภัย อย่างไรก็ดี การที่ภาษีรถยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือนมกราคม 2555 ซึ่งเป็นผลจากการที่โรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนส่วนใหญ่สามารถมากลับมาผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนเพื่อทดแทนการผลิตในประเทศ จะทำให้การจัดเก็บภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิตเป็นไปตามเป้าหมาย 2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 46,681 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2,881 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.6) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,931 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทโดยเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2554) สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 12.6 และ 14.9 ตามลำดับ และสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 46,383 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 4,204 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 18.0) เนื่องจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ และ บมจ.ท่าอากาศยานไทยได้นำส่งรายได้/จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิประจำปี 2554 จำนวน 1,040 1,000 และ 800 ล้านบาท ตามลำดับ ก่อนกำหนดจากที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ บมจ.กสท โทรคมนาคมจ่ายเงินปันผลสูงกว่าประมาณการ 937 ล้านบาท 2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 50,368 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1,292 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.1) เนื่องจากกรมศุลกากรได้ส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเหลือจ่ายจำนวน 4,655 ล้านบาท และกรมสรรพสามิต ได้นำส่งเงินค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่นคืนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมต่ำกว่าประมาณการ 1,870 ล้านบาท เป็นผลจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้มีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้เลื่อนการนำส่งค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคม (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่ง ในเดือนมกราคม 2555 จำนวน 2,000 ล้านบาท) 2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 88,085 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,445 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.2 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 76,652 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,848 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.5 ของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้) และการคืนภาษีอื่นๆ 1/ 11,433 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,597 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.6 (คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 4.9 ของภาษีอื่นๆ ที่จัดเก็บได้) 2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ในปีงบประมาณ 2555 คณะกรรมการการการะจายอำนาจให้แก่ อปท. ได้กำหนดอัตราการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ เท่ากับร้อยละ 20.29 ของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ตามประมวลรัษฎากรหลังจากหักส่วนที่ต้องจ่ายคืนผู้เสียภาษีแล้ว และได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. งวดแรกในเดือนกุมภาพันธ์เป็นจำนวน 7,155 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 775 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.1 นายสมชัยฯ สรุปว่า “นอกจากการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาจะสูงกว่า เป้าหมายแล้ว การดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล จะส่งผลให้ การจัดเก็บรายได้มีทิศทางเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การขยายเวลาการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลของรัฐบาล จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2555 นี้” สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3562

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ