กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มเครดิตของบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APD เป็นบวกจากเดิมที่ระดับมีเสถียรภาพ อันเป็นผลจากผลประกอบการของ APD ที่ดีเกินความคาดหมายในปี 2546 ซึ่งทำให้มีสถานะทางการเงินดีขึ้น และแนวโน้มการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของ APD ระยะยาวที่ระดับ "BBB(tha)" และระยะสั้นที่ระดับ "F3(tha)" นอกจากนี้ ฟิทช์ ยังให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ "BBB(tha)" แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันของ APD ครั้งที่ 1/2547 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2550 มูลค่าไม่เกิน 1.0 พันล้านบาท และตั๋วแลกเงิน (Bills of Exchange) ของ APD ชุดที่ 11-22/2547 และชุดที่ 25-36/2547 ซึ่งมีมูลค่ารวม 400 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนกรกฎาคม 2549 โดยมีแนวโน้มเครดิตเป็นบวก APD มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนเงินกู้ประเภทโครงการ
อันดับเครดิตของ APD สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดของบริษัทต่อกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภททาวน์เฮ้าส์ในเขตกรุงเทพมหานคร และยังสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทในธุรกิจเดียวกัน อีกทั้งยังรวมถึงผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม APD มีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่า มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นที่ดีกว่า และระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่เร็วกว่า อันดับเครดิตของ APD ยังสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของความต้องการที่อยู่อาศัยโดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะดอกเบี้ยที่เอื้ออำนวยต่อผู้ซื้อและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
APD มีรายได้สุทธิ 4.75 พันล้านบาทในปี 2546 เพิ่มขึ้น 76 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2545 เป็นผลมาจากการขยายโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทในช่วงปี 2545 ถึง 2546 เพื่อตอบสนองปริมาณความต้องการซื้อบ้านที่เพิ่มขึ้นและนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของรัฐบาล ขณะที่อัตราส่วนของ EBITDA ต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 31% ในปี 2546 แม้ว่าต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างก็ตาม APD มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (Net Debt/EBITDA) ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.0 เท่า ณ สิ้นปี 2546 จากระดับ 1.4 เท่า ณ สิ้นปี 2545 และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA/Interest expense) ที่แข็งแกร่งขึ้นที่ระดับ 17.6 เท่าในปี 2546 จากระดับ 5.6 เท่าในปี 2545 ณ สิ้นปี 2546 APD มีหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 พันล้านบาท จาก 1.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2545 โครงสร้างหนี้สินของ APD ประกอบด้วยหนี้สินระยะยาวในสัดส่วน 84% และหนี้สินระยะสั้นในสัดส่วน 16% การออกหุ้นกู้จำนวน 1.5 พันล้านบาทในปี 2546 มีส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างหนี้สินของ APD โดยช่วยเพิ่มสัดส่วนของหนี้สินไม่มีประกันและช่วยยืดอายุเฉลี่ยของหนี้สินรวมเป็นสามปีโดยประมาณ ณ สิ้นปี 2546 APD มีวงเงินที่สามารถเบิกจ่ายได้จากธนาคาร (Committed Undrawn Credit Facilities) ประมาณ 4.0 พันล้านบาท อันมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัท
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ APD ได้ถูกลดทอนลงจากลักษณะความผันผวนของวัฎจักรธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ปัจจัยเสี่ยงหลักประกอบด้วย ความไม่สอดคล้องของกระแสเงินสดรับและจ่ายในแต่ละโครงการ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ระยะเวลาในการขายโครงการที่ยาวขึ้นอันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทิศทางของราคาบ้านและค่าเช่า ระยะเวลาในการก่อสร้าง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและราคาที่ดิน กระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ (กระแสเงินสดจากการดำเนินงานหักเงินปันผลจ่าย) ของ APD คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำในปี 2547 เนื่องมาจากการขยายจำนวนโครงการที่สูงและการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ระดับหนี้สินสุทธิของ APD น่าจะเพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มการเติบโตของ EBITDA ของบริษัทน่าจะช่วยรักษาระดับของอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
APD เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยในประเทศไทย โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในตลาดประเภททาวน์เฮ้าส์ระดับกลางและระดับกลางบนในเขตกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ APD มีสัดส่วนประมาณ 91% ของรายได้สุทธิ โดยในส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง ปัจจุบัน APD จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีกลุ่มของสองตระกูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถือหุ้นรวมกันประมาณ 35% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และมีบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 8% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งลดลงจาก 18% ในปี 2545
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
แนวโน้มเครดิต: แนวโน้มเครดิตเป็นการบ่งชี้ทิศทางของอันดับเครดิตในระยะเวลาหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า แนวโน้มเครดิตอาจระบุเป็น "บวก" "มีเสถียรภาพ" หรือ "ลบ" แนวโน้มเครดิตเป็นบวกหรือลบมิได้เป็นการบ่งชี้ว่าอันดับเครดิตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสมอไป ในลักษณะเดียวกัน อันดับเครดิตที่มีแนวโน้มเครดิต "มีเสถียรภาพ" ก็สามารถที่จะถูกเพิ่มหรือลดได้โดยไม่ต้องมีการให้แนวโน้มเครดิตเป็นบวกหรือลบล่วงหน้า ในบางครั้ง ฟิทช์ เรทติ้งส์ อาจจะไม่สามารถที่จะระบุแนวโน้มของพื้นฐานเครดิตของบริษัทได้ ซึ่งในกรณีนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ อาจจะให้แนวโน้มเครดิตเป็น "สัญญาณวิวัฒน์"
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หาได้จาก www.fitchratings.com หรือ ติดต่อ
วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์ ภาคอุตสาหกรรม +662 655 4763
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, ผู้ช่วยกรรมการ ภาคอุตสาหกรรม +662 655 4760
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ +662 655 4759--จบ--
-นท-