กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--
การบินไทย ผนึก 3 องค์กร ปตท. วิทยุการบิน และบริษัท โบอิ้ง ย้ำแนวคิดลดโลกร้อน เดินหน้าผลักดันและพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ลดเสี่ยงปัญหาน้ำมันขึ้นราคาในอนาคต วอนภาครัฐร่วมสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมนำร่องจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Thai Aviation and Environmental Workshop” — Biofuels and Efficient Flight operations” 20-21 มีนาคม ศกนี้ ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน
นาวาอากาศตรีอลงกต พูลสุข ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวคิดการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ของการบินไทย เกิดจากความมุ่งมั่นในการตอบแทนสังคม ลดปัญหาสภาวะเรือนกระจก และป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ การบินไทยจึงเริ่มศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิง ชีวภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีการพูดคุยกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการบินไทยได้ร่วมมือกับ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท โรล์สรอยซ์ จำกัด บริษัท สกายเอ็นเนอร์ยี่ และ บริษัท โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล จำกัด จัดเที่ยวบินพิเศษ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ทำการบินด้วยน้ำมัน เชื้อเพลิงชีวภาพ (Inaugural Biofuel Fight) และวันที่ 22 ธันวาคม 2554 จัดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่ทำการบินเป็นเที่ยวบินแรกในเอเชีย เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Thai Aviation and Environmental Workshop” — Biofuels and Efficient Flight operations” และเวิร์คช้อป ระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2555 ณ โรงแรม พลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน เพื่อพูดคุยถึง วิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจการบินในประเทศไทย บทบาทของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมถึงนโยบายและการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมในธุรกิจการบิน และอื่นๆ
“การบินไทย มีวัตถุประสงค์ในการผลักดันให้ภาครัฐร่วมสนับสนุน ทั้งในด้านของการส่งเสริมและการลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ พร้อมจัดตั้งหน่วยงานกลาง ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบและผลักดันการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นภายใน 5 ปี โดยแนวทางในการพัฒนาเชื้อเพลิงดังกล่าว จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่จะทำให้เกิดผลผลิตของพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ได้จาก พืชพรรณ ที่ไม่ไปเบียดบังพื้นที่การเกษตรสำหรับอาหาร และเมื่อทุกอย่างสำเร็จจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านของต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นทุกปี หากไทยสามารถผลิตพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพเองได้ แม้จะในอัตราส่วนไม่มาก แต่จะช่วยให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยลงแน่นอน เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลปรับราคาสูงขึ้นอีกในอนาคต
ด้าน ดร.สุชาดา บุตรนาค นักวิจัยของฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท.ฯ กล่าวว่า ปตท. ได้พัฒนาและเริ่มทดลองการผลิตพลังงานทดแทน Biofuels มาตั้งแต่ปี 2550 โดยการร่วมมือกับนักวิจัยของปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำน้ำมันสกัดจากพืช ได้แก่ ปาล์ม สบู่ดำ น้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาทดลอง โดยมีการขยายสเกลการทำงานขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้กำลังรอให้ปริมาณการผลิตมากพอสำหรับการตรวจสอบในทุกๆรายการของ ASTM (American Society of Testing and Materials)
ขณะที่ นางรัตนาวลี อินโอชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยีปตท.บริษัท ปตท.ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่ ปตท.เป็นองค์กร ที่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ในการพัฒนาพลังงานนวัตกรรมในรูปแบบสีเขียว Green Innovation ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาพลังงานทดแทน ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน และการลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมหรือการลด GHG emission ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีที่ได้ถูกพัฒนาขึ้น รวมถึงศักยภาพของวัตถุดิบที่มีในประเทศไทย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ เพื่อจำหน่ายให้กับสายการบินต่างๆ ที่บินเข้ามาในประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาเพื่อทำให้ต้นทุนของเชื้อเพลิงอากาศยานลดลง เพื่อให้สายการบินต่างๆ สามารถใช้ได้โดยไม่เพิ่มภาระมากนักซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับ ปตท. ได้ร่วมมือกับการบินไทยในโครงการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นหน่วยงานที่ทำการวิจัยและพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพตั้งแต่การพัฒนาวัตถุดิบ ที่เหมาะสม การพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงอากาศยานที่มีคุณภาพพร้อมร่วมกับการบินไทย ในการผลักดันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้จัดทำแผนพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน
ซึ่งเริ่มจากการสัมมนา Thai Aviation and Environmental workshop ในหัวข้อ Biofuels and Efficient Flight Operations และยังเข้าร่วม เป็นคณะทำงานเพื่อกำกับการวิจัยและพัฒนา การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพของประเทศไทยอีกด้วย
“ส่วนโอกาสและแนวโน้ม ที่จะพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพให้ประสบความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับหลายภาคส่วน ที่นอกเหนือจากการบินไทยและปตท. คือ นโยบายของภาครัฐที่ต้องมีความชัดเจน ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคอากาศยาน นอกเหนือจากการส่งเสริมการใช้ เชื้อเพลิงชีวภาพในการขนส่งภาคพื้นดิน หากการพัฒนาประสบความสำเร็จและได้รับการสนับสนุน จากภาครัฐอย่างเต็มที่ จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียในการจำหน่ายเชื้อเพลิง อากาศยานชีวภาพให้กับสายการบินที่บินเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งทุกภาคส่วนต้องรณรงค์ในการลดภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) อย่างเข้มงวด”
ทางด้าน ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นาคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในงานต้นน้ำ ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ วิจัยว่าควรใช้พืชใดในการสกัดน้ำมันรวมไปถึงพิจารณาถึงแนวความคิดของหน่วยงานต่างๆ กับการผลิตพลังงานทดแทน และวางแผนการดำเนินงาน โดยขั้นตอนการทำงานขณะนี้ เป็นการรณรงค์ให้คนตระหนักถึงการลดการใช้พลังงานรวมถึงการทดลองเลือกพิจารณานำพืชที่เหมาะสมสำหรับการผลิตมาใช้ อาทิ สบู่ดำ ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย และมะพร้าว ซึ่งจะพิจารณาถึงความเหมาะสม ว่าเป็นพืชที่เป็นอาหารหรือไม่ มีปริมาณมากพอหรือไม่ คุณภาพที่ได้เป็นอย่างไร ความคุ้มค่ามีมากน้อยขนาดไหน และปริมาณน้ำมันที่ได้ในขั้นตอนสุดท้ายมีเพียงพอหรือไม่
“แนวโน้มความเป็นไปได้ในการผลิตนั้น ทุกส่วนต้องประสานงานและรวมกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมาจะมีปัญหาที่ต่างคนต่างทำ ดังนั้นจึงต้องหาหน่วยงานกลางมาเป็นเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อทำให้กระบวนการทำงานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้ ความเป็นไปได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เมื่อการบินไทยเริ่มต้นรณรงค์และดำเนินแผนงาน โดยเฉพาะการจัดสัมมนา “Thai Aviation and Environmental Workshop” — Biofuels and Efficient Flight operations” ในวันที่ 20-21 มีนาคม ศกนี้”
นาวาอากาศตรี ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทวิทยุการบิน แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า วิทยุการบินฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรแห่งความปลอดภัยใน การบริการการเดินอากาศด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย การกำกับดูแลที่ดี และคำนึงถึงการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในธุรกิจการบิน” ที่ผ่านมาวิทยุการบินฯได้ดำเนินโครงการเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น Performance-Based Navigation (PBN), Bay of Bengal Cooperative Air Traffic Flow Management System (BOBCAT), Continuous Descent Operation (CDO) และ โครงการ Asia and Pacific Initiative to Reduce Emissions (ASPIRE)
ทั้งนี้ วิทยุการบินฯได้นำระบบการเดินอากาศด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม Performance-Based Navigation หรือ PBN มาใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินอากาศ และ PBN ยังมีผลในการเพิ่มประสิทธิภาพและส่งผลต่อการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากจะได้ประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายแล้วยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางการบิน ช่วยลดปริมาณการเผาผลาญ เชื้อเพลิงของอากาศยานลงได้ ปัจจุบันวิทยุการบินฯใช้ระบบนี้ ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ สมุย และมีแผนนำระบบ PBN ติดตั้งใช้งาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีโครงการการบริหารความคล่องตัวในการจัดการจราจรทางอากาศผ่านอ่าวเบงกอล หรือ BOBCAT ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ วิทยุการบินฯ ได้พัฒนาระบบการจัดการความคล่องตัวจราจรในน่านฟ้า Kabul เพื่อให้การจราจร บนเส้นทางบินไปและกลับจากยุโรปในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดความล่าช้า การดำเนินการดังกล่าวประเมินได้ว่าได้ช่วยสายการบินต่างๆ ประหยัดน้ำมันจากการ Delayได้ ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงมาก ซึ่งผลงานในส่วนนี้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล และส่งผลให้ วิทยุการบินฯ ได้รับรางวัล Jane’s ATC Award ด้าน Enabling Technology เมื่อปี 2011
โดยในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Thai Aviation and Environmental Workshop” — Biofuels and Efficient Flight operations” 20-21 มีนาคม ศกนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นวาระที่สำคัญยิ่งของการพัฒนาพลังงานทางเลือกของเชื้อเพลิงอากาศยาน โดยในวันแรกจะเป็นการกล่าวถึงทิศทางของการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือก วิสัยทัศน์ และนโยบายในด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคขนส่งทางอากาศ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายอภินันท์ วรรณางกูร รองกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, Dr. Rhett Jefferies, Program Manager, FAA, Mr. Skip Boyce, President of Boeing South East Asia และ ดร. จรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดี กรมการบินพลเรือน ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษ นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญในด้านเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ของ บริษัท โบอิ้ง, บริษัท SkyNRG บริษัท Neste Oil Corporation และ World Wildlife Fund (WWF) รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจาก สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ บริษัท Rolls Royce และ GE Aviation ร่วมเป็นวิทยากร
สำหรับการสัมมนาในวันที่สองนั้นเป็นการสัมมนา ใน 2 หัวข้อ พร้อมๆ กัน โดยหัวข้อแรกนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ (From Farm to Flight) โดยสัมมนากันในเรื่องของนโยบายในการส่งเสริมพืชพลังงานและพลังงานทางเลือกจากภาครัฐ เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกพืชพลังงานในมุมมองของนักวิชาการ และภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นด้านต้นน้ำ และเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพด้วยกระบวนการ Hydrotreated Renewable Jet (HRJ) fuel และ Fisher-Tropsch ซึ่งเป็นด้านปลายน้ำ รวมทั้งการประเมินวัฏจักรคาร์บอนไดออกไซด์ของเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ แบบครบวงจร โดยมีวิทยากรจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า พระนครเหนือ กรมช่างอากาศ กองทัพอากาศ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ รวมทั้ง สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ส่วนในอีกหัวข้อที่มีการสัมมนาพร้อมกันนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติการบินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แนวทางการพัฒนาระบบการจัดการการจราจรทางอากาศ โดยถอดประสบการณ์จาก Airway Corp New Zealand บริษัทโบอิ้งฯ สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
“ทั้งนี้ ผู้มีส่วนร่วมในการจัดสัมมนาครั้งนี้มีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าประเทศไทยมีโอกาสและมีศักยภาพ ที่จะเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ หากได้รับการผลักดันจากนโยบายรัฐ รวมถึงการสนับสนุนอื่นๆ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยแต่ละหน่วยงานต้องแสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบตามภารกิจที่มี ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพเองได้ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง ถ้าไทยสามารถผลิตได้เอง จะช่วยลดต้นทุนได้มาก สายการบินต่าง ๆ ในประเทศไทย จะหันมาทำการบินด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพและผลที่ตามมาคือจะช่วยสนับสนุนให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดภาวะโลกร้อนได้”