กบข. เผยกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงการลงทุนเพื่อขยายผลตอบแทน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 4, 2004 09:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กบข.
กบข. เผยกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงการลงทุน เน้นการสร้างโอกาสในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและขยายผลตอบแทนแก่สมาชิก พร้อมพัฒนากลยุทธ์การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการบริหารการลงทุนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาว่า การบริหารเงินกองทุน กบข. ในปัจจุบันได้ยึดหลักการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในตราสารหลายๆ ประเภท โดยปัจจุบัน กบข. ได้มีสัดส่วนการลงทุนต่างๆ ทั้งในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เงินฝากสถาบัน การเงิน หุ้นกู้และตราสารหนี้ หุ้นสามัญและใบสำคัญแสดงสิทธิ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการลงทุนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจมากนัก และจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าได้
นอกจากนี้ นายวิสิฐยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กบข. ฝ่ายวิจัยและวางแผน ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุนและฝ่ายจัดการตราสารทุนร่วมกันจัดทำแผนการลงทุนเป็นรายไตรมาส โดยอาศัยการวิเคราะห์แนวโน้มภาพรวมทางเศรษฐกิจและภาวะอุตสาหกรรม รวมกับข้อมูลจากสถาบันภายนอกเพื่อประกอบการพิจารณาการลงทุนในตราสารแต่ละประเภท รวมทั้งทำหน้าที่ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กบข. ยังมีคณะอนุกรรมการกลยุทธ์การลงทุนช่วยให้ความคิดเห็นและทบทวนประเด็นต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า กบข. ได้พิจารณาแง่มุมต่างๆ อย่างครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุน และเป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุนที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการจัดการ ลงทุนและคณะกรรมการ กบข.
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในการบริหารการลงทุนของ กบข. ยังคงยึดตาม หลักธรรมาภิบาลหรือแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้เป็นหลักเพื่อการปฏิบัติงาน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน กบข.สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้องค์กรประสบความสำเร็จ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับกองทุนระยะยาวของประเทศต่อไป
เรื่องน่ารู้จาก กบข.
สวัสดิการประกันชีวิต
โครงการบ้านธอส.เพื่อที่อยู่อาศัยข้าราชการสมาชิก กบข.ครั้งที่ 2 กำลังจะสิ้นสุดลง แต่ กบข.ก็ยังคงมีสวัสดิการอื่น ๆ ให้สมาชิกได้ใช้สิทธิกันอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการกระตุ้นการออมในระยะยาว กบข.จึงได้จัดสวัสดิการ "โครงการประกันชีวิตเปี่ยมสุข" ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับสมาชิกและครอบครัว ส่งเสริมการออมเงินเพื่อแผนการต่างๆ ในอนาคต โดยมีบริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์จำกัด หรือ AIA และบริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ AACP เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำโครงการ ล่าสุดหลังจากเปิดโครงการได้ประมาณ 1 เดือน มีสมาชิกสนใจสมัครทำประกันชีวิตแล้วกว่า 1,000 ราย และคิดเป็นวงเงินเอาประกันชีวิตกว่า 100 ล้านบาท โดยสิทธิพิเศษสำหรับโครงการประกันชีวิตของทั้ง 2 บริษัท สำหรับสมาชิก กบข. คือ ได้รับอัตราเบี้ยประกันพิเศษ มีทุนประกันขั้นต่ำเริ่มต้นเพียง 5,000 บาท เท่านั้น และสมาชิกยังสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้อีกด้วย
ทั้งนี้การเลือกทำประกันชีวิตของสมาชิกนั้น กบข. เป็นผู้ดำเนินการจัดหาบริษัทที่มีความมั่นคงสำหรับสมาชิก มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารหรือดำเนินการของบริษัทประกันชีวิตแต่อย่างใด ดังนั้นสมาชิกต้องตัดสินใจและยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเอง และสำหรับสมาชิก กบข. ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ AIA Call Center โทร.1581 กด 6 หรือ โทร. 0 2634 8888 และที่ศูนย์ดูแลลูกค้าอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. โทร.1373 หรือ โทร. 0 2263 0315 และที่ทุกสาขาของทั้ง 2 บริษัททั่วประเทศ
วิธีการออมเงินเพื่อวันข้างหน้า
ในครั้งที่ผ่านมา ได้พูดถึงข้อแตกต่างของการออมและการลงทุน คราวนี้จะได้มาดูรายละเอียดกันว่า เราจะมีวิธีการออมเงินอย่างไร เพื่อให้มีเงินเหลือพอที่จะนำไปลงทุน หรือมีเก็บไว้ใช้ในวันข้างหน้า ซึ่งในเรื่องนี้ กบข.ได้เคยสรุป ขั้นตอนการออมเงินที่น่าสนใจไว้ ดังนี้
ตั้งเป้าหมาย แต่ละคนมีเป้าหมายเหมือนกัน ลองคิดดูว่าเป้าหมายของตนเองต้องใช้เงินประมาณเท่าไร และอย่าลืมคำนวณเผื่อเงินเลี้ยงชีพตลอดชีวิตที่เหลือไว้ด้วย
เริ่มเสียแต่วันนี้ ถ้าวันนี้ที่ทำงานช่วยออมเงินให้แล้ว (เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) เราอาจจะออมเพิ่มเองบ้าง แต่ถ้ายังไม่มียิ่งต้องออมเองให้มากขึ้น รู้จักกับเครื่องมือการลงทุน เช่น พันธบัตร เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม ฯลฯ ซึ่งส่งเหล่านี้จะทำให้เงินของเรางอกเลยมากขึ้น ศึกษาให้ดีแล้วนำมาใช้ประโยชน์ ขีดจำกัดความเสี่ยงของตัวเอง ถูกกำหนดด้วยปัจจัยสองตัว คือ อายุและความชอบ คนที่ใกล้เกษียณอายุราชการควรนำเงินส่วนใหญ่ไว้ในที่ปลอดภัย อาจจะนำไปเสี่ยงหาผลตอบแทนสูงๆ ได้ไม่มากนัก แต่ถ้าคุณเป็นคนชอบความเสี่ยงอาจจะเพิ่มเงินลงทุนในหุ้นอีก และในทางกลับกันถ้าไม่ต้องการความเสี่ยงมากอาจลดเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสี่ยงตามที่เห็นว่าพอดี
กระจายความเสี่ยงไปที่ต่างๆ เราไม่ควรเอาเงินทั้งหมดไปลงทุนในที่ๆ เดียว ควรมีการกระจายความเสี่ยงไปหลายๆ ที่ คำว่าหลายๆ ที่ไม่เฉพาะประเภทของเครื่องมือการลงทุนหลายๆ ประเภทอย่างเช่น พันธบัตร หุ้น (Security Type) แต่รวมไปถึงแยกลงไปในธุรกิจประเภทต่างๆ (Business Sector) หรือกระจายไปหลาย ๆ ประเทศได้ดียิ่ง ใช้ "เวลา" ให้เป็นประโยชน์ เวลามีส่วนช่วยให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นได้มากกว่าที่คิดด้วยเงินเริ่มต้นเท่ากัน อัตราผลตอบแทนเท่ากัน ในระยะเวลาออมที่นานกว่าไม่กี่ปี อาจทำให้เงินต้นงอกเงยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เพราะผลของดอกเบี้ยทบต้นทำงานร่วมกับเวลา ต้องอดทน อย่าท้อแท้ถ้าผลตอบแทนจากการลงทุนยังไม่ออกมาทันตาเห็น ทำตามแผนที่วางไว้ ถ้าตั้งใจว่าช่วงปีนี้จะต้องออมเดือนละ 1,000 บาท ก็ต้องเก็บ 1,000 บาทมาออม หรือถ้าตั้งใจว่าจะแบ่งเงินครึ่งหนึ่งไปลงทุนในหุ้นและอีก 20% ไปลงในตราสารหนี้ เพราะคิดแล้วว่าพอดีกับอายุและความชอบของเราก็ให้ทำตามนั้นซึ่งถ้าคุณรับความเสี่ยงเหล่านั้นไว้แต่ต้นแล้วก็ให้ทำตามแผนเพราะผลตอบแทนมีลงก็ย่อมมีขึ้น อย่าลืมเงินตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าต้องไปยืมเงินคนอื่น แต่หมายความว่าพยายามอย่าแตะเงินออมก้อนนี้ เพราะเงินออมนี้มีเวลาของมันคือในอนาคตเมื่อคุณเลิกทำงานแล้ว หากอยากได้อะไรควรพยายามหาทางออมเงินเพิ่มหรือดึงเงินจากทางอื่นแต่ถ้าไม่มีทางอื่นแล้วคุณต้องวางแผนเพิ่มแล้วว่าถ้าดึงเงินออกไปจะทำอย่างไรให้กลับมามีเงินได้ตามแผนเดิมที่วางไว้ สำรวจบัญชีเงินออมของตัวเองทุกปี ระยะเวลา 1 ปีเป็นช่วงเวลาที่กำลังพอดีสำหรับดูแผนการออมเงินของตนเองว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และทบทวนสำหรับการลงทุนว่าเรารับความเสี่ยงได้มากขึ้นหรือน้อยลง ควรจะจัดสรรเงินลงทุนใหม่แล้วหรือยัง
เก็บมาฝากสมาชิก กบข.
เมื่อคิดจะซื้อรถสักคัน (2)
สัปดาห์ที่แล้วได้แนะนำไปหลายข้อแล้วว่า ก่อนจะตัดสินใจลงทุนซื้อรถยนต์ สักคัน เราจะต้องคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบใน 4 ข้อไปแล้ว ดังนั้นคราวนี้มาดูกันในเรื่องต่อไปว่า เราควรพิจารณาปัจจัยอะไรต่อไป ซึ่งได้แก่
5. ซื้อง่ายขายคล่อง เนื่องจากรถยนต์คันหนึ่งนั้นโดยทั่วไปจะใช้ งานได้ดีในช่วงประมาณ 6-7 ปีแรก หลังจากนั้น ก็อาจจะต้องเปลี่ยนรถเนื่องจากค่าซ่อมที่สูงขึ้นและปัญหาต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น คนที่มีเงินจำกัดต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วยว่ารถที่คุณซื้อนั้นเมื่อใช้งานไปแล้วจะขายต่อได้ราคามากน้อยเท่าไร และขายต่อได้คล่องแค่ไหน โดยทั่วไปแล้วรถที่มีความนิยมในตลาดสูงมักจะมีราคาขายต่อที่ดี ถ้าเราซื้อรถคันแรก และมั่นใจว่ายังไงๆ ก็ต้องขายต่อเพื่อซื้อคันใหม่ต่อไป ก็ต้องคิดเรื่องนี้ เพราะรถยนต์บางยี่ห้อ เพียงแค่ถอยออกมาจากโชว์รูมราคาก็ตกไปเกือบครึ่งหนึ่งเลยเหมือนกัน
6.ศูนย์บริการซ่อม ก่อนจะซื้อรถนั้นคุณต้องรู้ด้วยว่าถ้ารถมีปัญหา หรือ ต้องบำรุงรักษานั้นควรจะใช้ศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถที่ไหนที่ไว้วางใจได้ หรือซื้อรถยี่ห้อนึ่งแล้วสามารถเข้าศูนย์ได้ทั่วไทยหรือไม่ และ ราคาการเข้าซ่อมแต่ละครั้งเป็นอย่างไร ลองหาข้อมูลต่างๆ ดู เพราะบางยี่ห้อ ราคารถไม่แพงมากนัก แต่พอเข้าซ่อมแต่ละครั้ง ราคาสูงจนน่าตกใจ เป็นต้น
7.วางแผนการเลือกซื้อ เราต้องรู้ข้อมูลด้วยว่าจะเลือกซื้อรถได้ที่ไหน จากแหล่งใด อาจจะซื้อหนังสือรถไว้ศึกษาข้อมูล ในเรื่องราคาและแหล่งรถทั้ง จาก dealer ศูนย์รถ เต็นท์รถมือสอง หรือรถบ้านที่ เจ้าของประกาศขายโดยตรง นอกจากหนังสือรถ เว็บไซต์เกี่ยวกับรถยนต์ ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ซึ่งช่วยให้คุณประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลือก โดยก่อนการลงทุนซื้ออย่าซื้อโดยไม่รู้ข้อมูลและไม่มีการวางแผนเป็นอันขาด
นี่ยังไม่จบการเลือกซื้อรถยนต์ที่น่าจะนำมาคิด ทำให้เราต้องตระหนักได้แล้วว่า ไม่ใช่ง่าย ๆ ที่คิดว่าชอบ มีเงินเดือน และจะซื้อได้เลยเท่านั้น สัปดาห์หน้าจะต่อเป็นตอนสุดท้าย ถ้าพิจารณาให้ครบทั้งหมดแล้วก็จะทำให้ไม่เสียใจภายหลัง
ที่สำคัญ "ไม่เสียเงินเปล่า ๆ อย่างโง่ ๆ" ด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2547
คอลัมน์ Financial Planing โดย คุณอมฤดา สุวรรณจินดา.--จบ--
-นท-

แท็ก กบข.   ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ