กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--InsideThaiGOV
กองบรรณาธิการ InsideThaiGOV ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นิสิต นักศึกษา ในฐานะยุวสตรี ที่จะมาสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของวัยรุ่นต่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นางสาวรัตติยา น่วมรัศมี ในฐานะประธานชมรมพุทธศาสตร์ มศว หนึ่งในตัวแทนนิสิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า “เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เนื่องจากผู้หญิงจำนวนมากต้องการโอกาสทางสังคมรวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะนำเงินที่ได้จากกองทุนดังกล่าวไปใช้หมุนเวียนทางธุรกิจ อาจจะทั้งปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำแล้วแต่คณะกรรมการจะอนุมัติ โดยการรวมกลุ่มกันจำนวน 5 คน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกคนในทุกระดับมีโอกาสในการทำสิ่งต่างๆต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งดีกว่าที่จะปล่อยให้สตรีจำนวนมากไปกู้เงินนอกระบบที่ประสบปัญหาการจ่ายดอกเบี้ยที่สูง”
นางสาวรัตติยา กล่าวต่อว่า “เบื้องต้นตนคิดว่านิสิต นักศึกษา จำนวนมากอาจจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย หากรวมกลุ่มกันไม่ต่ำกว่า 5 คนแล้วจะสามารถนำเงินที่ได้จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไปใช้ลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์เพื่อช่วยหมุนเวียนการทำธุรกิจ และช่วยเป็นช่องทางหาเงินระหว่างเรียนได้ แต่ก็ต้องควรนำไปใช้ในทางที่ถูกจริยธรรมด้วย ทั้งนี้ตนคิดว่านิสิตนักศึกษาจะสนใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุนนี้ และเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของนิสิตนักศึกษาทั่วไป”
“ส่วนสิ่งที่ตนจะฝากถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนั้น โดยส่วนตัวแล้ว อยากให้รัฐบาลมีการออกบูทย่อยๆตามมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้ทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น เป็นกิจกรรมต่อเนื่องเพิ่มเติมหลังจากรัฐบาลเปิดตัวเว็บไซท์ http://www.womenfund.thaigov.go.th อีกทั้งจะเกิดเป็นประโยชน์ต่อตัวนิสิตนักศึกษาเอง และต่อประชาชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่สนใจด้วยเพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลและรายละเอียดของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้อย่างเท่าเทียมกันค่ะ”
ทางด้าน นางสาวปุณฑริกา เรืองฤทธิ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในมุมมองของยุวสตรีว่า “ข้อดีของคนรุ่นใหม่ คือ มีแนวความคิดใหม่ๆ เพียงแต่ว่ายังไม่มีทุนทรัพย์ ฉะนั้นหากกลุ่มนักศึกษารวมเพื่อนได้อย่างน้อย 5 คน ที่มีแนวคิดที่สามารถทำงานร่วมกันและเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกัน เมื่อได้เงินทุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมาแล้วนั้น แน่นอนว่าพวกเราเราก็ต้องนำเงินดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดให้สังคมได้ด้วย เช่น การรวมกลุ่มกันทำธุรกิจแบบโซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพรส์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกิจการเพื่อสังคม ไม่ใช่ว่าเราจะหากำไรจากธุรกิจเพียงอย่างเดียว และเราจะแบ่งผลกำไรคืนสู่สังคมได้ด้วย จะทำให้เงินที่ได้จากกองทุนมีคุณค่ามากขึ้น”
“นโยบายของรัฐบาลได้หยิบยื่นโอกาสให้พวกเราได้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งสามารถนำต่อยอดได้กว้างมาก โดยส่วนตัวนั้น ตนกับเพื่อนอยากจะนำเงินไปทำธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ เช่น นำเงินไปจ้างช่างฝีมือที่มีทักษะดีแต่ไม่มีงานทำและขาดโอกาส เช่น เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ ซึ่งทางบ้านก็ให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว”
ส่วนสิ่งที่จะฝากถึงรัฐบาลนั้น นางสาวปุณฑริกา กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นการกระจายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น ที่มีการทำงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ แต่อยากให้รัฐบาลให้โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน ไม่เน้นเฉพาะคนคนชั้นกลางในเมืองเท่านั้น แต่กระจายการเข้าถึงแหล่งทุนในประชาชนทุกกลุ่มของสังคม และ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็จะต้องได้รับโอกาสดังกล่าวด้วยค่ะ”
ติดต่อ:
พลรักษ์ รักษาพล Business Contact Center 0800-735-735 palrak@gmail.com