พาณิชย์ ผ่าทางตันชำระค่าสินค้าไทย-อิหร่านผ่านประเทศที่ 3 — การค้าผ่านเคาน์เตอร์เทรดลดความเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Monday March 26, 2012 10:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก พาณิชย์ ผ่าทางตันชำระค่าสินค้าไทย-อิหร่านผ่านประเทศที่ 3 — การค้าผ่านเคาน์เตอร์เทรดลดความเสี่ยง ชี้สถานการณ์อึมครึม ผู้ส่งออกปรับตัวรับมาระยะหนึ่งแล้ว นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการบรรเทาผลกระทบการค้าที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์อิหร่านถูกกดดันจากประชาคมโลกว่า กรมฯได้ส่งให้ทูตพาณิชย์ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการค้าได้รับผลกระทบพอสมควร ทำให้ธนาคารไทยระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงที่จะรับแอล/ซีที่ออกจากธนาคารอิหร่าน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย-อิหร่านที่สำคัญตลอดในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ผู้ส่งออกได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยการชำระเงินค่าสินค้าส่วนใหญ่จะชำระเป็นเงินสดผ่านประเทศที่สาม เช่น ผ่านธนาคารในรัฐดูไบ เป็นต้น ปัจจุบันเศรษฐกิจอิหร่านอยู่ภายใต้การกดดันจากสหประชาชาติ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป(อียู)ให้ยุติโครงการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ที่อิหร่านอ้างเหตุผลว่า เป็นไปเพื่อสันติ สหรัฐฯและอียูได้พยายามมาตรการทางการค้าต่างๆ เพื่อโดดเดี่ยวเศรษฐกิจอิหร่านออกจากประชาคมโลก โดยสั่งห้ามไม่ให้ธนาคารชาติของตนดำเนินธุรกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับธนาคารอิหร่าน อิหร่าน เป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง ประเทศต่างๆ เช่น จีน อินโดนิเซีย อินเดีย เกาหลี มาเลเซียและญี่ปุ่น ได้พยายามแก้ปัญหาการชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศ โดยการใช้ระบบการค้าหักบัญชี( Account Trade ) กับอิหร่าน ซึ่งในเรื่องนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.) ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ได้รับการทาบทามจากผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ อิหร่านว่า อิหร่านมีความสนใจทำการค้าหักบัญชีกับไทยเช่นกัน โดยภูมิภาคตะวันออกกลางมีสคร. 5 แห่ง นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ระบบการค้าหักบัญชีในหลักการ ธนาคารของทั้งสองประเทศ ไม่ต้องชำระเงินระหว่างกันทันทีทุกครั้งที่มีการค้าขายและเมื่อคู่ค้าทั้งสองฝ่ายตกลงทำการค้ากันแล้ว ผู้นำเข้าจะชำระเงินค่าสินค้าเป็นเงินสกุลท้องถิ่นกับธนาคารในประเทศของตน ขณะที่ผู้ส่งออกก็รับเงินเป็นเงินท้องถิ่นจากธนาคารในประเทศของตนเช่นกัน โดยธนาคารคู่สัญญาของสองประเทศ ยังไม่ต้องโอนเงินค่าสินค้าระหว่างกันดังเช่นการค้าแบบปกติ แต่จะบันทึกการเป็นเจ้าหนี้/ลูกหนี้ระหว่างกันทุกครั้งที่มีการค้าขาย เมื่อครบกำหนดเวลาหักลบหนี้ ธนาคารที่เป็นลูกหนี้จะชำระเฉพาะในส่วนต่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าให้สูงขึ้น และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา “ในเดือนมกราคม 55 ที่ผ่านมา สหรัฐและอียูได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านมากขึ้น ทำให้การโอนเงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าผ่านประเทศที่สามทำได้ยากลำบาก และพุ่งเป้ากดดันไปยังอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของอิหร่าน โดยมีแผนจะระงับซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอิหร่านในเดือนกรกฎาคม 55 เป็นต้นไป ซึ่งสำนักงานฯ คาดว่ามาตรการนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและการค้าระหว่างประเทศอิหร่านพอสมควร”นายนันทวัลย์ กล่าว อย่างไรก็ตามอิหร่านเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นที่ต้องการของไทยในปริมาณมาก เช่น ก๊าซแอลพีจี , เม็ดพลาสติก และปุ๋ยยูเรีย ในขณะที่อิหร่านมีความต้องการสินค้าของไทย เช่น อาหาร ข้าว ไม้ เป็นต้น ดังนั้น หากไทยจะทำข้อตกลงระบบการค้าหักบัญชีกับอิหร่านได้ ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการสถานการณ์ตรึงเครียดในขณะนี้ได้ ทั้งนี้ในปี 2554 ไทยส่งออกไปอิหร่านคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 985 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับปีก่อน และไทยนำเข้าสินค้าจากอิหร่านเป็นมูลค่า 139 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลดร้อยละ 50 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับอิหร่านเป็นมูลค่า 856 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเดือนมกราคม 55 ไทยส่งออกไปอิหร่านมีมูลค่า 54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 58 สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.(02) 507-7932-34
แท็ก อิหร่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ