กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 19 - 23 มี.ค. 55 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง 2 ชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.53 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 124.46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 122.86 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 106.73 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยลดลง 0.85 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 136.79 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลง 0.48 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 136.62 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- UK Consultancy Oil Movements รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันทางเรือของ OPEC ไม่รวม Angola และ Ecuador เฉลี่ยสี่สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. 55 จะเพิ่มขึ้น 360,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 23.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Joint Organization Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียในเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้น 0.62% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 9.871 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Statoil เปิดดำเนินการแท่นขุดเจาะน้ำมัน Statfjord C (25,000 บาร์เรลต่อวัน) ในทะเลเหนือ หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 55 จากเหตุแก๊สรั่วไหล
- บริษัท Motiva ประกาศปิดกิจการโรงกลั่น Aruba (275,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสหรัฐฯปลายเดือน มี.ค. นี้จากปัจจัยราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรม (Industrial Orders) ปรับตัวลดลง 7.4% ในเดือน ม.ค. 55
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 มี.ค. 55 ลดลง 5,000 ราย จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ระดับ 348,000 ราย ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 51
- กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานยอดอนุมัติสร้างบ้านใหม่เดือน ก.พ. 55 อยู่ที่ 717,000 หลังต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 11,000 หลังต่อปี สูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 2551
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อนหน้า สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี
- บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Petrologistics ประเมินว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน มี.ค. 55 จะลดลงจากเดือนก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 14% อยู่ที่ระดับ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- South Oil Company ของอิรัก รายงานไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบจากทุ่นส่งออกน้ำมันทางทะเล Single Point Mooring (SPM) ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 55 เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแผนปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Upper Zakum (550,000 บาร์เรลต่อวัน) ระหว่างวันที่ 1-15 พ.ค. 55 ส่งผลให้ปริมาณผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวลดลง 20 %
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Korea National Oil Company (KNOC) ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศเดือน ก.พ. 55 ที่ระดับ 2.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 14.2% จากเดือนก่อนหน้า) และอัตราการกลั่นอยู่ที่ระดับ 76% (เพิ่มขึ้น 5.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า)
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากตัวเลขภาคการผลิตของจีนปรับลดลง 5 เดือนติดต่อกันบ่งชี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปไม่แข็งแกร่งผนวกกับการขาดดุลงบประมาณของโปรตุเกสในระดับสูงช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 55 สร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจยุโรป ประกอบกับปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อการผลิตไฟฟ้า (Direct Burn) ของญี่ปุ่นเดือน พ.ค. 55 มีแนวโน้มลดลงจากอากาศอบอุ่นขึ้นและปริมาณสำรองอยู่ในระดับสูง รวมถึงโรงกลั่นญี่ปุ่นมีแผนปรับลดอัตราการกลั่นในเดือน เม.ย-พ.ค. 55 หลังสิ้นสุดฤดูหนาว อีกทั้งซาอุดีอาระเบียสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทดแทนปริมาณน้ำมันของอิหร่านที่หายไปในตลาดได้เพียงพอ โดยยืนยันว่าพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตจากระดับประมาณ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวันทันทีหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามปัจจัยอิหร่านยังคงกดดันราคาน้ำมันภายหลังมีข่าวปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน มี.ค. 55 จะลดลงจากเดือนก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้หลายประเทศปรับลดหรือหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และแอฟริกาใต้ รวมถึงมาเลเซียและไต้หวันซึ่งมีแผนระงับการนำเข้าตั้งแต่เดือน เม.ย. และ ก.ค. 55 ตามลำดับ นอกจากนั้น Reuters Poll ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากนักวิเคราะห์ 36 สถาบัน ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent เฉลี่ยปี 2555 ขึ้น 3.3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ 4 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 105.00 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ 114.30 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลตามลำดับ อีกทั้งสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะปล่อยน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) ออกมาเพื่อบรรเทาราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 103- 109 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ 120- 128 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลตามลำดับ