กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--โฟร์ท ครีเอชั่น
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จัดงานเปิดตัวสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาการท่องเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ หวังเป็นองค์กรเพื่อการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวแบบครบวงจรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพร้อมได้แขกรับเชิญพิเศษคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรคคประชาธิปัตย์ มาเป็นวิทยากรในการปาฐกถา เรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการท่องเที่ยวไทย” ร่วมด้วย วิทยากรชื่อดัง 3 ท่าน ได้แก่ คุณเจษฎาภรณ์ ผลดี คุณพลอย จริยะเวช คุณภัทรา สหวัฒน์ ร่วมสัมมนาในหัวข้อ “ท่องเที่ยวสร้างสรรค์- สรรสร้างชีวิต”
ศาสตราจารย์ ดร.มาลียา เครือตราชู คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาการท่องเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Creative Academy for Cultural and Heritage Tourism - CCHT) แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยสถาบันฯ เกิดขึ้นจากการผนวกจุดแข็งของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีศักยภาพเกี่ยวกับองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของบุคลากร และเครือข่ายทางด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยฯ จึงเกิดเป็นความพร้อมในการเป็นสถาบันหลักของประเทศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ สู่สถาบันเครือข่ายทางการศึกษา ชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งได้ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 23 มีนาคม 2555 โดยภายในงานเปิดตัวยังได้จัดให้มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการท่องเที่ยวไทย” โดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี และการสัมมนา เรื่อง “ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ - สรรสร้างชีวิต” โดยวิทยากร 3 ท่าน ผู้มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ประกอบด้วย คุณเจษฎาภรณ์ ผลดี นักแสดงพิธีกรชื่อดังผู้ดำเนินรายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ร่วมด้วยคุณพลอย จริยะเวช นักเขียนแนวท่องเที่ยวสไตล์ Informative Entertaining และคุณภัทรา สหวัฒน์ เจ้าของแหล่งท่องเที่ยวเพลินวาน ซึ่งภายในงานยังได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ล่าสุด http://www.ccht.mahidol.ac.th ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ และข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เอาไว้มากที่สุด และนอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ Mascot นกพาเพลิน ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนสถาบันฯ ในการประชาสัมพันธ์เปิดตัวภายในงานด้วย โดยนกพาเพลินถูกคิดขึ้นจากความต้องการนำเสนอการท่องเที่ยวอย่างเบิกบาน ผ่อนคลาย และสบายอารมณ์ ตัวนกน้อยสื่อถึงการโผบินอย่างมีอิสระเสรีไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตามที่ใจปรารถนาเมื่อบินทะยานขึ้นไปบนฟ้า นกจะนำพาความรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และนำสุนทรียภาพแห่งการเดินทางมาสู่ผู้พบเห็น จึงได้นำนกน้อยมาเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันฯ และตั้งชื่อนกว่า นกพาเพลิน นั่นเอง”
ทั้งนี้สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาการท่องเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมีภารกิจในการสร้างสรรค์ชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิจัยแนวโน้ม และถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมด้วยการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา บ่มเพาะวิสาหกิจสำหรับผู้ประกอบการ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการแบบครบวงจร อีกทั้งยังมีหน้าที่พัฒนาหลักสูตรเพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐาน (Certify Body) ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อการต่อยอดแนวโน้มทางการตลาด กระตุ้นให้เกิดการลงทุน และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และชุมชนต่อไปในอนาคต
อนึ่ง สถาบันฯ มีหน่วยงานย่อยทั้งหมด 3 หน่วยงาน คือ หน่วยงานแรกเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษา และฝึกอบรมการท่องเที่ยว เป็นหน่วยงานย่อยในสถาบันที่รับผิดชอบเรื่องการให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแก่หน่วยงานเอกชนและราชการเพื่อการพัฒนาธุรกิจแบบครบวงจรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่วนหน่วยงานที่ 2 คือหน่วยงานวิจัยแนวโน้มและการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว เป็นหน่วยงานย่อยของสถาบันฯ ในการนำเสนอผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว พร้อมทั้งศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ของโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ และหน่วยงานสุดท้ายคือหน่วยงานเพื่อพัฒนามาตรฐาน และเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นหน่วยงานย่อยของสถาบันฯ ในการพัฒนาและกำหนดมาตรฐานทางวิชาการ ในประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพการบริการ การตรวจสอบและควบคุม การจัดอันดับ (Rating) ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่สนใจติดต่อกับทางสถาบันฯ เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ นั้นประกอบไปด้วย 3 กลุ่มคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เป็นนักท่องเที่ยวระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน ที่สนใจขอรับคำปรึกษาแนะนำ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิง เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ และ กลุ่มองค์กร/ชุมชน/สถานศึกษาเครือข่าย หรือ บุคคลทั่วไปที่ต้องการการรับรองมาตรฐาน หรือใช้องค์ความรู้สาธารณะจากการวิจัย เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบการด้านการท่องเที่ยวต่อไปนั่นเอง
ศาสตราจารย์ ดร.มาลียา เครือตราชู กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “สถาบันฯ มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโดยมีคณะกรรมการนโยบาย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล มากำกับดูแลเพื่อกำหนดทิศทางและตรวจสอบ ความโปร่งใส มีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัยมหิดล และมีคณะที่ปรึกษาจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้คำปรึกษา และชี้แนะการดำเนินกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ นอกจากนี้ สถาบันฯ มีเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งที่สุดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นที่เชื่อได้ว่าจากการผนวกความสามารถของทุกภาคส่วนของสถาบันฯ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนสถาบันฯ สู่การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป”
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสถาบันฯ ได้ที่ โทร. 02 441 5090 ต่อ 1240 อีเมล์ ccht@mahidol.ac.th หรือเข้าชมเว็บไซต์ของสถาบันได้ที่ http://www.ccht.mahidol.ac.th
ข้อมูลประชาสัมพันธ์โดย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บ. โฟร์ท ครีเอชั่น
โทร 02 530 7650 ต่อ 102 — 104