กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--มหาวิทยาลัยศิลปากร
ออสเตรเลีย-เอเชียเข้าร่วมเป็นปีแรก ชื่นชมไทยมีหลายผลงานเด่นเพื่อวางแนวทางการพัฒนาด้านสถาปัตย์ ให้เหมาะกับสังคมปัจจุบันและสอดคล้องกับอนาคต ภายใต้อิทธิพลของแนวคิดแบบสมัยใหม่ ดร. โคทม ชี้สถาปนิกมีบทบาทและสร้างผลกระทบต่อสังคมสูง จึงควรขยายกรอบมุมมองให้กว้างขึ้น
รศ. สิทธิพร ภิรมย์รื่น คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยถึงผลการประชุมสัมมนาทางวิชาการ "สถาปัตยปาฐะ ครั้งที่ 3" ในหัวข้อ "กระแสทรรศน์ : สถาปัตย์สะท้อนสังคม" ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยมีผู้ส่งผลงานวิชาการเข้ามาราว 40 ชิ้น ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอ ทั้งสิ้น 24 ชิ้น โดยมีผู้ลงทะเบียนร่วมสัมมนากว่า 150 คน และในปีนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้าร่วมสัมมนาและนำเสนอผลงาน เป็นครั้งแรก ซึ่งต่างแสดงความชื่นชมว่าผลงานของนักวิชาการไทยหลายเรื่องมีความโดดเด่นและน่าสนใจอย่างยิ่ง
หัวข้อของการสัมมนาครั้งนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อหาทิศทางที่ชัดเจนและแนวทางที่เหมาะสมสำหรับ การพัฒนาการเรียนการสอน แนวคิด ทฤษฎี และภาคปฏิบัติ หลังจากเป็นที่รับรู้มานานว่าแนวคิดแบบสมัยใหม่ (Modernism) ได้ส่งอิทธิพลโดยตรงต่อวงการสถาปัตยกรรมในไทยและภูมิภาคอาเซียนมานานกว่า 50 ปี
"ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอในการสัมมนาครั้งนี้มีทั้งของคนรุ่นใหม่จนถึงรุ่นอาวุโส โดยมีเรื่องน่าสนใจที่เป็นทั้งกรณีศึกษาและเป็นแนวทางจะนำไปสู่การพัฒนาวงการสถาปัตย์ของบ้านเรา เช่น บทบาทสถาปนิกกับภาวะการณ์ไร้ที่อยู่อาศัยอันมั่นคงของสังคมไทย โดย ผศ. สุดจิต สนั่นไหว และ อ.อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา, ปัจจัยของความล้มเหลวของโครงการก่อสร้าง : ปัญหาความขัดแย้งในเป้าหมายของ องค์กร โดย ปณิตา วงศ์มหาดเล็ก, Isaan Dead Space Society : The Spatial and Empirical Analysis of Tung Srimuang, Udonthani (การศึกษาและวิเคราะห์ทุ่งศรีเมือง จ. อุดรธานี) โดย อ. ดร. ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ, อ. ดร. อภิรดี เกษมศุข,และ อ. ดร. รพิทตย์ สุวรรณชฎ" รศ. สิทธิพรกล่าว
สำหรับผลงานที่น่าสนใจของนักวิชาการจากต่างประเทศ ได้แก่ ความคล้ายคลึงและความแตกต่างของพื้นที่ชานเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regionalism and the Global Suburb in Southeast Asia) โดย David O'Brien, Sidh Sintusingha, Phoung Dinh, การวางแผนและควบคุมกระบวนการพัฒนาในมาเลเซีย (The Planning System and Development Control Process in Malaysia) โดย Che Musa Che Omar เป็นต้น
ด้าน รศ. ดร. โคทม อารียา ผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมครั้งนี้ ให้ข้อคิดว่า "สถาปัตยกรรมและผังเมืองสร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก สถาปนิกจึงควรพิจารณาผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการทำงานของสถาปนิก ดังนั้นจึงควรมีมุมมองที่กว้างขวางครอบคลุมหลายสิ่งหลายอย่าง และงานสถาปัตยกรรมควรที่จะมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเอกลักษณ์ประจำชาติเป็นที่ภาคภูมิใจของสังคม นอกจากนั้นในวงการสถาปนิกน่าจะมีการเสนอโครงการที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย เช่นที่รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสได้ปฏิบัติ โดยคำนึงถึงเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากโครงการเหล่านั้นก็จะเป็นของประชาชนในที่สุด"
และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังได้จัดการประชุม "ARCH. SU - ASEAN LINK MEETING" เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้าร่วมหลายสถาบัน ได้แก่ Faculty of Architecture, Planning and Surveying, Universiti Teknologi MARA, Kulliyyah of Architecture and Environmental Design, International Islamic University Malaysia ประเทศ มาเลเซีย, Department of Architecture University of Indonesia, Department of Architecture, Gajah Mada University ประเทศอินโดนีเซีย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับครั้งนี้มุ่งเน้นในเรื่องการหาแนวทางในการจัดโครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างสถาบัน และคาดว่าในอนาคตจะจัดกิจกรรมทางวิชาการร่วมกันทุกๆ ปีต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
สำนักงานเลขานุการคณะ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
โทร. 0 2221 5877 โทรสาร 0 2221 8837--จบ--
-นท-