กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--บ้านพีอาร์
นักวิชาการ ชี้เสี่ยงแรงงานระดับล่างตกงาน เหตุนโยบายดีเดย์ 1 เม.ย. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นายจ้างแบกรับต้นทุนค่าแรงไม่ไหว แห่ย้ายฐานการผลิต แนะรัฐสร้างจุดแข็ง เร่งพัฒนาฝีมือแรงงานระดับล่างให้คุ้มค่าจ้าง
รศ.ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข หัวหน้าหลักสูตรบริหารทรัพยากรบุคคล (HRM) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของไทย กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่คาดว่าจะมีผลต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลในระบบเศรษฐกิจของไทยว่า ในระบบเศรษฐกิจมีโครงสร้างทรัพยากรมนุษย์ประกอบด้วย แรงงานที่มีทักษะระดับสูง ระดับกลาง และระดับต่ำ ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น นักลงทุนต้องการแรงงานระดับล่างราคาถูก ถ้าวิเคราะห์แรงงานไทย พบว่า แรงงานระดับล่างที่ไม่มีฝีมือของไทยนั้น มีค่าจ้างที่แพงกว่าแรงงานระดับล่างในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะปัจจัยค่าแรงจะเป็นตัวสนับสนุนให้นักธุรกิจอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า รวมทั้งอาจลดคนงานแล้วเพิ่มปริมาณงานให้คนงานที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้บริหารต้องคำนึงถึงการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ให้กับแรงงานในกลุ่มนี้ และสรรหาแรงงานที่มีศักยภาพมาพัฒนาองค์กร
รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์และนโยบายในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ควรพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ และควรพัฒนาแรงงานระดับล่างให้มีทักษะ มีคุณค่า และสร้างความแตกต่างในเรื่องผลงาน จะเห็นได้จากประเทศเกาหลีใต้ที่มีนโยบายชัดเจนทางเศรษฐกิจในการเป็นเจ้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ก็พัฒนาฝึกอบรมแรงงานทุกระดับให้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าว ในอนาคตเราจะเห็นภาคธุรกิจของไทยออกมาเปิดโรงเรียนหรือวิทยาลัยของตัวเองเพื่อพัฒนาบุคคลากรมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถรอให้รัฐบาลมาพัฒนาในเรื่องนี้ได้ทันการ ดังนั้นการจัดการศึกษาและอบรมเพื่อพัฒนาแรงงานจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด เพื่ออบรมคนให้ทันต่อการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้แรงงานเองก็ต้องมีความตื่นตัวในการพัฒนาตนเอง
“ปัจจุบันรัฐบาลเจอปัญหาเฉพาะหน้ามาก จนอาจลืมมองในระยะยาวว่า ในอนาคตจุดขายของไทยคืออะไร เราต้องสร้างจุดเด่นของระบบเศรษฐกิจไทย การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรเป็นนโยบายประชานิยมเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลควรคำนึงถึงค่าครองชีพ อุปสงค์และอุปทานในตลาดว่า นายจ้างสามารถแบกรับต้นทุนของค่าแรงตามอัตราเหล่านี้ได้หรือไม่ สำหรับในภาพรวมของประเทศรัฐบาลต้องวิเคราะห์ให้ได้ด้วยว่า หากขึ้นค่าแรงแล้ว จะมีผลกระทบหรือไม่ ค่าแรงเป็นจริงหรือไม่สำหรับผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะปัญหาในขณะนี้คือค่าแรงงานขั้นต่ำของแรงงานไทยมีราคาแพงและไม่มีศักยภาพที่เหมาะสมกับค่าจ้างงาน เราจึงอาจเสียเปรียบจากการที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีราคาถูกกว่า ดังนั้นจึงเสี่ยงกับการที่แรงงานระดับล่างของเราอาจตกงานในระยะยาว” รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าว
ติดต่อ:
รวิกานต์ โชติบุณยศักดิ์, กุมารี วัชชวงษ์
โทร.02 292 9383