กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ไบรท์ ทู ยู
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำสื่อมวลชนพร้อมคณะยุวทูตรักอะตอม ศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณู ภายใต้ชื่อกิจกรรม สื่อมวลชนสัญจร “รังสีรักษา อุตสาหกรรมนำพา ปรมาณูเพื่อชีวิต” ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2555 ณ ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี จ. ปทุมธานี และ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จ.สระบุรี หวังสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งผลให้มีการยอมรับให้มีการนำพลังงานปรมาณูมาใช้ในทางสันติ และพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเห็นถึงความสำคัญ เพราะสื่อมวลชนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สามารถเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ภารกิจของหน่วยงาน รวมทั้ง ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้พลังงานปรมาณู ให้กับประชาชน นอกจากนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ใช้โอกาสนี้นำคณะยุวทูตรักอะตอม ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศ และรองชนะเลิศ จากการแข่งขันหุ่นยนต์ ในหัวข้อ “หุ่นยนต์กู้วิกฤตรังสีจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู” ซึ่งได้จัดประกวดแข่งขัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รวมทั้ง อาจารย์ที่ปรึกษา เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณู โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ด้วย
เลขาธิการ ปส. กล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เน้นการเยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณู ทั้งด้านการแพทย์ ณ ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และด้านการอุตสาหกรรม ณ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งถือว่าเป็นการนำพลังงานปรมาณูมาใช้ประโยชน์ที่ใกล้ตัวกับประชาชนมาก โดยการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณู ณ ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี ส่วนใหญ่เป็นการใช้สารกัมมันตรังสีตรวจดูการทำงานของอวัยวะ หรือหาบริเวณที่เกิดโรค หรือที่เรียกว่า เวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยการรับประทานหรือฉีดสารกัมมันตรังสีที่มีความเฉพาะเจาะจงกับอวัยวะที่ต้องการตรวจเข้าไปในร่างกาย แล้วตรวจด้วยเครื่องมือแสดงภาพอวัยวะที่แสดงให้เห็นโครงสร้างและ การทำงานของอวัยวะแต่ละระบบ ได้เห็นความแตกต่างของอวัยวะที่ปกติและผิดปกติเปรียบเทียบกัน ทำให้แพทย์ทราบความผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ ได้ นอกจากนี้ ยังใช้ในการรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอก ที่เรียกว่า รังสีรักษา ซึ่งวิธีการคือ รังสีจะไปฆ่าเซลล์ที่เติบโตเร็ว ดังนั้นเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วจึงถูกทำลายได้ง่าย ขณะเดียวกัน เซลล์ปกติก็จะถูกทำลายไปด้วย แต่เซลล์ปกติจะสามารถคืนสภาพได้หลังจากได้รับรังสี ส่วนเซลล์มะเร็งจะถูกทำลายไปในการฉายรังสีนี้จะมีเครื่องมือและวิธีการให้ลำรังสีเข้าถึงบริเวณที่เป็นก้อนมะเร็งได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้เกิดผลต่อเนื้อเยื่อปกติน้อยที่สุด
ส่วนทางด้านการอุตสาหกรรม ณ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เป็นการนำรังสีไปใช้ในกระบวนการผลิตหรือเพื่อสนับสนุนการผลิต เช่น การวัดและควบคุมในกระบวนการผลิต การตรวจหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องเสียไปในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต โดยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการนำสมบัติในการทะลุทะลวงผ่านตัวกลางของรังสีแกมมาและนิวตรอนมาใช้ประโยชน์
“การใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณู ดังที่กล่าวมา จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลความปลอดภัยโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป”
เลขาธิการ ปส. กล่าวในที่สุดว่า นอกจากการเข้าเยี่ยมชมการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณูแล้ว ยังมีการมอบเกียรติบัตร และฉลาก “มาตรฐานความปลอดภัยทางรังสี” ให้แก่ ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการ “อยู่ปลอดภัยมั่นใจกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ” ที่มอบให้สถานประกอบการทางรังสี ที่มีการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับของ ปส. ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ามีการใช้รังสีอย่างถูกต้องและปลอดภัย