ไขปัญหาการลงทุนในกองทุนเปิดทองคำในไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday March 28, 2012 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความโดย ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ อาจารย์ประจำสถาบันสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการวิจัยและการจัดสัมมนา “Sasin Faculty Research Forum เรื่องช่องโหว่กองทุนเปิดทองคำในไทย” ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไทยจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ผลที่ตามมาก็คืองานวิจัยดังกล่าวได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุน รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งได้ตื่นตัวถึงปัญหาที่กระทบต่อภาพรวมของตลาด และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก ทั้งนี้ หลังจากที่จัดสัมมนาไปมีผู้ที่สนใจและนักลงทุนติดต่อสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทางผู้วิจัยจึงขอสรุปคำถามและตอบคำถาม เพื่อเผยแพร่ให้นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ดังนี้ 1) ทำไมราคาปิดของกองทุนทองคำสิงคโปร์ในวันที่ 18 มีนาคม 2554 และ 30 ธันวาคม 2554 ไม่สะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรม ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ราคาซื้อขายได้อยู่ในช่วง $151- $152 ตลอดทั้งวันจนถึงตลาดปิด แต่ราคาปิดกลับก้าวกระโดดไปอยู่ที่ $165.99 เมื่อตรวจสอบไปที่ตลาดทองคำโลก ก็ไม่พบว่ามีการกระโดดของราคาในลักษณะนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น และราคาชี้แนะตามมูลค่ากองทุน (indicative NAV) ณ เวลานั้นคือ $151.694 ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณมาจากราคาทองคำในตลาดโลก ราคาปิดที่ 165.99 นั้นถือว่าสูงกว่าราคาตลาดทองคำโลกไปถึง 9.42% ส่วนในวันที่ 18 มีนาคม 2554 ก็เป็นเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน แต่ราคาปิดสูงกว่าราคาตลาดทองคำโลกไป 5.17% ราคาปิดของทั้งสองวันนี้ไม่สะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรมเพราะแตกต่างจากราคาที่ซื้อขายกันในตลาดอื่นมาก และราคาดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงช่วงวินาทีก่อนตลาดปิดเท่านั้น ถ้ามีการขยายเวลาปิดตลาดออกไป ก็จะมีนักทำกำไรเข้ามาขายที่ราคาที่สูงผิดปกตินั้น และไปซื้อคืนที่ตลาดอื่นเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างไป ซึ่งจะทำให้ราคากลับมาเป็นปกติ แต่ในช่วงปิดตลาดเป็นเวลาที่สั้นมาก ทำให้นักทำกำไรเข้ามาไม่ทัน จึงทำให้ราคาปิดสูงกว่าราคาที่แท้จริงดังที่ปรากฏ นอกจากนี้ทาง บลจ. อย่างน้อย 3 แห่ง ก็ออกจดหมายถึงลูกค้ายอมรับเหตุการณ์วันที่ 30 ธันวาคม ว่า “การปรับตัวของราคาปิดไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำในตลาดโลก” “มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนไม่สะท้อนราคาทองคำในตลาดโลก” และ “ราคาปิดของ SPDR Gold Trust ปรับตัวสูงขึ้นผิดปกติในช่วงปิดตลาด” สำหรับเหตุการณ์วันที่ 18 มีนาคม มี บลจ.แห่งหนึ่งยอมรับว่า “ลูกค้าที่มีการส่งคำสั่งซื้อในวันที่ 18 มีนาคม 2554 จะได้ราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นตามราคาทองคำในตลาดโลกประมาณ 5%” 2) ถ้าราคาปิดของกองทุนที่ซื้อขายในตลาด มีค่าต่างกับ NAV ของกองทุนนั้นมาก ถือว่าปกติหรือไม่ กองทุนที่ซื้อขายในตลาดมีอยู่สองประเภท คือ กองทุนเปิด Exchange-traded fund (ETF) และกองทุนปิด Closed-end fund (CEF) ในกรณีกองทุนเปิด กองทุนจะมีกลไกในการสร้างและลดหน่วยลงทุน (creation and redemption) ทำให้ราคาที่ซื้อขายในตลาดจะไม่แตกต่างจาก NAV ได้มาก เพราะถ้าราคาแตกต่างกับ NAV มากก็จะมีนักทำกำไรเข้ามาซื้อขายทำกำไรในส่วนต่าง ทำให้ราคาปรับกลับมาใกล้เคียงกับ NAV ดังนั้นถ้าราคาซื้อขายของกองทุนเปิด เช่น กองทุนทองคำสิงคโปร์ SPDR GLD 10US$ ต่างจาก NAV แค่เพียง 2% ก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ส่วนในกรณีกองทุนปิด เช่นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนจะไม่มีกลไกในการสร้างและลดหน่วยลงทุนที่จะช่วยปรับราคาที่ซื้อขายในตลาดไม่ให้แตกต่างจาก NAV ได้มากเหมือนในกรณีของกองทุนเปิด ดังนั้นราคาของกองทุนที่ซื้อขายกันในตลาดจะแตกต่างจาก NAV ของกองทุน โดยจะขึ้นกับความต้องการซื้อและขายในตลาดขณะนั้น เช่น ถ้าราคาตลาดของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างจาก NAV ถึง 20% ก็จะถือเป็นเรื่องที่ปกติ 3) การบิดเบือนราคาปิดนี้สามารถทำได้หรือไม่ และสมควรนำราคาปิดมาใช้กำหนดราคาซื้อขายหน่วยลงทุนหรือไม่ ตามหลักการถ้าตลาดมีเวลาให้ผู้ซื้อและผู้ขายเพียงพอ ราคาซื้อขายจะไม่สามารถถูกบิดเบือนได้ง่าย เพราะถ้าราคาทองคำในตลาดหนึ่งมีราคาสูงเกินไป ก็จะมีนักทำกำไรเข้าไปขายที่ตลาดนั้นในราคาสูง และไปซื้อกลับในตลาดอื่นที่ราคาปกติเพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง ราคาในตลาดนั้นก็จะกลับมาเป็นราคาปกติ และราคาของทุกตลาดก็จะกลับเข้าสู่สภาวะสมดุล แต่ราคาปิดเป็นราคาที่เกิดในช่วงเวลาที่สั้นมากไม่เพียงพอที่กลไกการปรับราคาสู่สมดุลดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นได้ทัน การบิดเบือนราคาปิดจึงสามารถทำได้ โดยการส่งคำสั่งซื้อหรือขายช่วงสุดท้ายก่อนตลาดปิดรับคำสั่ง และถ้าสภาพคล่องขณะนั้นต่ำด้วยก็จะไม่ต้องใช้ทุนมากในการทำราคาปิด ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณกำลังถ่ายรูปเพื่อนของคุณ พอคุณนับ 1-2-3 เขาก็กระโดดขณะที่คุณกดชัตเตอร์พอดี ถ้าเอารูปนี้ไปโชว์ คนที่ดูรูปก็อาจเข้าใจผิดคิดว่าเพื่อนของคุณตัวสูง ซึ่งรูปนั้นไม่ได้สะท้อนความสูงที่แท้จริงของเขา เพราะรูปนั้นเกิดจากการบิดเบือนความสูงแค่เพียงช่วงสั้นๆ เหมือนกับการทำราคาปิด แต่ถ้าคุณถ่าย 100 รูปในเวลา 10 นาที แล้วหาความสูงเฉลี่ย เพื่อนของคุณก็จะไม่สามารถบิดเบือนความสูงได้ง่ายอีกต่อไป เพราะต้องกระโดดอยู่ตลอดในช่วงเวลา 10 นาทีนั้น ซึ่งจะเหนื่อยมาก ดังนั้นราคาเฉลี่ยจะบิดเบือนได้ยากมาก ในสหรัฐอเมริกา ถ้ามีการซื้อขายช่วงท้ายตลาดเพื่อบิดเบือนราคาปิด เพื่อผลประโยชน์ที่ผูกกับราคาปิดนั้น ก็จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง และทาง U.S. Securities and Exchange Commission ก็ได้จับและปรับผู้กระทำผิดในการบิดเบือนราคาปิดไปได้หลายราย อย่างไรก็ตาม ราคาปิดของหลักทรัพย์ทั่ว ๆไปมักจะไม่ถูกบิดเบือน เพราะไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ มาผูกกับราคาปิดนั้น จึงไม่มีใครต้องการที่จะบิดเบือนราคาปิด แต่ในกรณีราคาปิดของ SPDR GLD 10 US$ นั้นได้ผูกอยู่กับผลประโยชน์มหาศาล เช่น ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ราคาปิดของ SPDR GLD 10 US$ เป็นตัวกำหนดราคาซื้อขายของกองทุนทองคำในไทยในวันนั้นทั้งวัน ที่มีมูลค่าการซื้อสุทธิถึง 860 ล้านบาท การที่ราคาปิดนั้นสูงเกินจริงก็ทำให้ผู้ที่ขายกองทุนในไทยในวันนั้นขายได้ในราคาที่สูงเกินจริงด้วย ตัวเลขตัวใดถ้ามีการนำไปผูกกับผลประโยชน์ ตัวเลขนั้นควรจะต้องเป็นตัวเลขที่บิดเบือนได้ยากเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ตัวอย่างเช่น ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่าง ๆ ราคาซื้อขายในวันสุดท้ายจะผูกกับผลประโยชน์ของผู้ที่ถือสัญญา ดังนั้นตลาดเหล่านี้จึงใช้ราคาเฉลี่ยช่วงท้ายตลาดแทนที่จะใช้ราคาปิด เพราะราคาเฉลี่ยไม่สามารถถูกบิดเบือนได้ง่ายจึงสะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรมได้ดีกว่าราคาปิด อีกตัวอย่างหนึ่งคือในคาสิโนต่างๆ เขาจะใช้การทอยลูกเต๋าที่บิดเบือนได้ยากในการผูกกับผลประโยชน์ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม แต่ถ้ามีการบิดเบือนเช่นการถ่วงลูกเต๋า ก็จะถือว่าเป็นความไม่ยุติธรรมต่อลูกค้า แต่ในกรณีกองทุนทองคำ ราคาปิดของ ETF ที่สิงคโปร์เป็นราคาที่ถูกบิดเบือนได้ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น อีกทั้งได้มีการผูกกับผลประโยชน์ของนักลงทุนที่ซื้อขายกองทุนทองคำในไทย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกบิดเบือน และเกิดช่องโหว่ให้มีการทำกำไรอย่างไร้ความเสี่ยง ดังที่อธิบายในบทวิจัย ผู้วิจัยจึงเสนอให้เปลี่ยนมาใช้ตัวเลขอื่นที่บิดเบือนยากมากำหนด NAV และราคาซื้อขายหน่วยลงทุนแทน โดยเฉพาะในกรณีวันที่ 30 ธันวาคมนั้น ตามหลักการแล้วการกำหนดราคา NAV ควรจะต้องสะท้อนถึงราคาตลาดและเป็นธรรม (fair market value) และผู้วิจัยเห็นว่าราคาปิดที่ใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 นั้น ไม่ได้สะท้อนถึงราคาตลาดที่เป็นธรรมตามที่อธิบายในข้อ1 ดังนั้นตามหลักการทางวิชาการผู้วิจัยเห็นว่าไม่สมควรนำราคาปิดดังกล่าวมาใช้กำหนด NAV และราคาซื้อขายหน่วยลงทุนในวันนั้น 4) กองทุนอื่นที่ใช้ราคาปิดของหลักทรัพย์ มาใช้คำนวณ NAV ของกองทุน จะมีผลกระทบในลักษณะเดียวกันหรือไม่ สาเหตุที่กองทุนส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ใช้ราคาปิดของหลักทรัพย์ที่กองทุนถืออยู่แต่ละตัวมากำหนดราคา NAV ของกองทุนแล้วไม่เกิดปัญหาเหมือนในกรณีกองทุนทองคำของไทย เพราะกองทุนเหล่านั้นถือหลักทรัพย์หลายตัว ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้มีการทำราคา เช่นถ้ากองทุนมีหุ้น 20 ตัว ถ้าจะบิดเบือน ก็ต้องไปบิดเบือนราคาปิดของหุ้นทั้ง 20 ตัว ซึ่งก็จะไม่คุ้มเพราะต้องใช้เงินจำนวนมากในการทำราคาของหุ้นทุกตัว เมื่อไม่มีแรงจูงใจในการทำราคา ราคาปิดจึงไม่ถูกบิดเบือนและทำให้สะท้อนราคาตลาด ในกรณีที่กองทุนลงทุนในหลักทรัพย์ตัวเดียว ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบ master-feeder funds กล่าวคือ กองทุนที่เรียกว่า feeder fund จะลงทุนในกองทุนอีกกองทุนหนึ่งที่เรียกว่า master fund อย่างไรก็ดีกองทุน master fund เหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น ETF และไม่ได้ซื้อขายกันในตลาด ทำให้ไม่สามารถทำราคาปิดได้ ปัญหาดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น และในกรณีที่ feeder fund เป็นกองทุน ETF ปัญหาดังกล่าวก็จะไม่เกิดเช่นกันเพราะกองทุน ETF นั้นซื้อขายกันในตลาดอยู่แล้วซึ่งนักลงทุนจะทราบราคาซื้อขายที่แน่นอนในขณะซื้อขาย ดังนั้นจะมีกรณีเดียวที่ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นคือกรณีที่กองทุน feeder ไม่เป็น ETF แต่ลงทุนใน master fund ที่เป็น ETF ซึ่งจะมีเพียงส่วนน้อยของกองทุนในโลกเท่านั้นที่เป็นกรณีนี้ ตัวอย่างคือ กองทุนรวมทองคำของไทยที่ลงทุนในกองทุนทองคำสิงคโปร์หรือฮ่องกง กองทุนน้ำมันที่ลงทุนในกองทุนเปิด ETF ตัวเดียว และกองทุนทองคำบางตัวในอินเดีย ซึ่งกองทุนเหล่านี้มีโอกาศที่จะประสบปัญหาแบบเดียวกับกองทุนรวมทองคำของไทย และทางผู้วิจัยเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับกองทุนของประเทศนั้น ก็จะเข้ามาแก้ไขปิดช่องโหว่ดังกล่าวเมื่อทราบเช่นกัน ส่วนสาเหตุที่กองทุนเหล่านี้บางกองทุนยังไม่ประสบปัญหาดังกล่าว อาจเป็นเพราะ 1) กองทุน ETF ที่เป็น master fund มีสภาพคล่องสูงขณะปิดทำให้การทำราคาปิดต้องใช้ทุนสูงจึงอาจไม่คุ้ม 2) มีการเก็บค่าถือครองระยะสั้นใน feeder fund เหมือนกองทุนทองคำอินเดีย จึงอาจทำให้ไม่คุ้มต่อการทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยง 3) ประเทศนั้นมีกฏหมายรองรับที่จะเอาผิดกับผู้ที่จงใจทำราคาปิด และมีการจับและปรับเกิดขึ้นในอดีต หรือ 4) ยังไม่มีนักทำกำไรเห็นช่องโหว่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มสภาพคล่องของกองทุน ETF ที่เป็น master fund มีการเก็บค่าถือครองระยะสั้นของ feeder fund และมีการบังคับใช้กฏหมาย สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดจริงๆ และถ้ากองทุนทองคำในไทยย้ายไปลงทุนใน SPDR GLD ETF ที่ฮ่องกง แต่ยังคงใช้ราคาปิดในการอ้างอิงเช่นเดิม ก็จะไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดเช่นกัน เพราะราคาปิดของ SPDR GLD ETF ที่ฮ่องกงก็อาจจะถูกบิดเบือนได้อีก การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดคือการเปลี่ยนมาใช้ตัวเลขที่บิดเบือนได้ยากในการกำหนด NAV แทนการใช้ราคาปิด 5) หลังจากพบช่องโหว่นี้ ศศินทร์ ทำอย่างไร เมื่อทางผู้เขียนพบวิธีการทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงจากช่องโหว่นี้ ก็ได้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมโดยมีขอบเขตของงานดังต่อไปนี้ 1) เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดในปัจจุบันคือการนำราคาที่บิดเบือนได้ง่ายและไม่ได้สะท้อนราคาตลาดอย่างเป็นธรรม มาใช้กำหนด NAV ของกองทุน 2) แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ที่นักลงทุนสามารถเข้ามาทำกำไรโดยไร้ความเสี่ยงได้ ซึ่งควรจะต้องรีบปิด และ 3) เสนอวิธีแก้ไขปัญหาโดยเสนอให้เปลี่ยนมาใช้ตัวเลขอื่นที่บิดเบือนได้ยากมากำหนดราคา NAV แทน โดยยกตัวอย่างตัวเลขที่บิดเบือนได้ยากและสามารถสะท้อนราคาตลาดอย่างเป็นธรรม เช่น ค่าเฉลี่ย และ ค่า Indicative NAV โดยทั้งนี้ งานที่อยู่นอกเหนือจากขอบเขตของงานวิจัยดังกล่าว ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเป็นผู้ทำการศึกษาเพื่อพิจารณาตัดสินใจเลือกตัวเลขที่เหมาะสมที่สุดมาใช้ในการคำนวน NAV ต่อไป เมื่อได้ผลการวิจัย ในวันที่ 18 มกราคม 2555 ทางศศินทร์ก็ได้แจ้งไปยังกลต. การแจ้ง กลต.ก่อนนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักการ เพราะ กลต. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาดและคุ้มครองผู้ลงทุน และหลังจากนั้นก็ได้ไปนำเสนอผลงานและได้ปรึกษาร่วมกันกับทาง กลต. เพื่อหารือแนวทางแก้ไข ซึ่งทาง กลต. ก็แจ้งว่าได้มีการปรึกษากับทาง บลจ. ในเรื่องเหตุการณ์วันที่ 30 ธันวาคมนี้ก่อนแล้ว ทางศศินทร์จึงไม่ได้ไปติดต่อกับสมาคม บลจ. โดยตรงเองอีกทาง เพราะ ทาง กลต. และ สมาคม บลจ. มีการประสานงานกันอยู่ นอกจากนี้แล้ว ไม่ได้มีบุคคลหรือองค์กรใดแนะนำหรือว่าจ้างให้ผู้วิจัยทำการวิจัยดังกล่าว เพียงแต่เราในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ที่ต้องการทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เห็นว่าการใช้ราคาปิดที่ผิดปกติของกองทุนทองคำสิงคโปร์ในวันที่ 18 มีนาคม 2554 และ 30 ธันวาคม 2554 มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ที่ผ่านมานักลงทุนไทยที่ซื้อกองทุนทองคำที่อิงกับสิงคโปร์ในวันที่ 18 มีนาคม 2554 ต้องรับภาระซื้อในราคาที่แพงเกินจริงไป 5.17% และเหตุการณ์ลักษณะเดิมได้เกิดซ้ำอีกในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ที่ผู้ซื้อต้องจ่ายแพงเกินจริงถึง 9.42% และ ณ เวลานั้นไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เป็นครั้งที่ 3 ขึ้นอีกเมื่อใด ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกแน่ ทางศศินทร์เห็นว่านักลงทุนควรได้รับทราบถึงข้อมูลความเสี่ยงตรงนี้ เพราะการที่ทรัพย์สินหายไป 9-10% ในวันเดียวนี่ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยของทุกคน และตอนนั้นนักลงทุนทั่วไปส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงความเสี่ยงตรงนี้เลย ทางศศินทร์จึงเผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ให้ทุกคนได้ทราบพร้อมกัน เพื่อช่วยแจ้งเตือนนักลงทุนนำข้อมูลนี้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการลงทุนในกองทุนทองคำต่อไป และข้อดีอีกประการของการเผยแพร่คือเมื่อทุกคนรู้ก็จะทำให้ผู้ที่แอบทำกำไรอยู่ ถ้ามีอยู่จริง ก็อาจจะไม่กล้าทำกำไรมากนัก ในบทวิจัยทางผู้เขียนได้แนะนำให้นักลงทุนรอก่อน หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็อย่าเพิ่งลงทุนในกองทองคำที่ใช้ราคาตลาดสิงคโปร์อ้างอิง แต่ถ้านักลงทุนอยากลงทุนในทองคำในตอนนั้น ผู้เขียนแนะนำนักลงทุนให้ลงทุนในกองทอง ETF ทั้ง 4 กองแทน เพราะจะไม่มีความเสี่ยงของราคาที่ผิดปกติดังกล่าว นอกจากนี้แล้วยังไม่ได้แนะนำให้นักลงทุนขาย แต่ถ้ามีนักลงทุนต้องการจะขายก็แนะนำให้ทยอยขาย อย่าขายทั้งหมดในวันเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่ไปขายในวันที่ราคาตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 6) ผู้ลงทุนควรทำอย่างไร เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ทาง ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้มีข้อสรุปในวิธีการคำนวณ NAV ของกองทุนรวมไทยที่ลงทุนใน Gold ETF ว่าในกรณีที่ทาง บลจ. เห็นว่าราคาปิดของ Gold ETF ผิดปกติ ทาง บลจ.จะใช้ราคาที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงเช่น Indicative NAV มาใช้ในการคำนวณ NAV ของกองทุนไทย ส่วนในกรณีที่ราคาปิดเป็นปกติ บลจ. จะใช้ราคาปิดของ Gold ETF มาคำนวณ NAV ของกองทุนไทย จากมาตรการใหม่นี้ทำให้ผู้เขียนเห็นว่านักลงทุนของกองทุนเปิดทองคำในไทยที่ลงทุนในกองทุนทองคำสิงคโปร์น่าจะสบายใจได้แล้วว่าเหตุการณ์ราคาผิดปกติที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำได้อีก โดยทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ทาง บลจ.จะใช้ในการพิจารณาว่าราคาปิดนั้นปกติหรือไม่ปกติ ทางผู้เขียนเห็นว่าราคาปิดที่ปกติจะไม่ควรต่างจาก Indicative NAV เกิน 1-2% เพราะถ้าเกิน 1-2% ก็จะสามารถมีการทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยงได้อยู่ ตามที่เขียนอธิบายตัวอย่างไว้ในงานวิจัย สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ คุณศิริลักษณ์ สุจริตตานนท์ (แอน) Asst. Chief of Public Relations โทร 02-218- 3853-4 E-mail: sirilak.sujarittanonta@sasin.edu

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ