กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--มหาวิทยาลัยบูรพา
3 นักวิจัยห้องปฏิบัติการสมองกลฝังตัว ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.บูรพา ผลิตแอพพลิเคชั่น FollowMe เสริมสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับนักเรียน ในกิจกรรม ?Global Android Dev Camp 2012? หรือ GADC2012 ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้สามารถโต้ตอบกันได้
การเรียนแบบ Group-based Learning เป็นการเรียนการสอนอีกแบบหนึ่งที่ทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และสามารถพัฒนาความคิดไปพร้อมกัน แต่ด้วยขีดจำกัดของเรื่องบทเรียนบางครั้งไม่สามารถที่จะนำสิ่งรอบๆ ตัวมาใช้ในการเรียนการสอนได้ ปัญหานี้ทำให้ผู้มีความรู้ได้คิดนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันอย่างแอพพลิเคชั่นมาพัฒนาเพื่อช่วยในการเรียนการสอนนอกห้องเรียนกับนักเรียน
หนึ่งในนักพัฒนาแอพพลิเคชันแอนดรอยด์คือ นักวิจัยห้องปฏิบัติการสมองกลฝังตัว ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.บูรพา ประกอบด้วย นายสรไกร ไกรปุย นายวิธวัช บุญแย้ม และ นายชูชัย วงษ์แก้ว ได้ร่วมกันสร้าง ?แอพพลิเคชั่น Follow Me? ขึ้นเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนักเรียน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ จากกิจกรรม Global Android Dev Camp 2012 หรือ GADC2012 จัดโดย Thailand GTUG (Thailand Google Technology User Group) เป็นการจัดให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นแอนดรอยด์ทั่วประเทศไทยพร้อมกับอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นแอนดรอยด์ภายใน 48 ชั่วโมง
นายสรไกร ไกรปุย หนึ่งในสมาชิกเจ้าของผลงาน Follow Me ที่คว้าแชมป์กิจกรรม GADC2012 กล่าวว่า พวกเราทั้งสามคน จบการศึกษา สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาตร์ ม.บูรพา ปัจจุบันก็ทำงานอยู่ในห้องแล็ปสมองกลฝังตัวของ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งลักษณะการทำงานจะเป็น R&D เน้นในด้าน Embedded OS เช่น Android, Meego เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นการพัฒนาระบบโซลูชั่นทางด้านการศึกษา, ITS (Intelligent Transport System) และ อุปกรณ์ติดตามตัวแบบไร้สายสำหรับคนแก่คนชรา ผู้พิการ (www.bal-labs.com)
สำหรับการประกวดครั้งนี้ตนและเพื่อนๆ ทราบข่าวข้อมูลการประกวดจาก G+ ซึ่งนำข่าวการประกวดมาโพสไว้ เมื่ออ่านแล้วก็เกิดความสนใจจึงได้รวมตัวกันสมัครเข้าประกวดเพื่ออยากจะหาประสบการณ์ อีกทั้งอยากรู้จักกับคนในวงการเดียวกัน พร้อมกับแลกเปลี่ยนความรู้กัน และส่วนผลงานที่ส่งเข้าประกวดนั้นชื่อว่า ?Follow Me? เป็นโปรแกรมที่ถูกออกแบบและพัฒนามาเพื่อประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน แบบ Group-based Learning ที่เหมาะสำหรับภายนอกห้องเรียน โดยผ่านการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายไร้สาย (ad-hoc wireless LAN) ซึ่งโปรแกรมนี้จะมีจุดเด่นในการทำงาน คือ ทั้งสองฝ่ายครูกับนักเรียนสามารถโต้ตอบกันได้ทันที โดยครูสามารถถ่ายภาพสิ่งต่างๆ รอบตัวที่จะนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนแล้วส่งภาพไปยังหน้าจอของนักเรียนทุกคนด้วยการ broadcasting ซึ่งนักเรียนทุกคนสามารถเห็นสิ่งที่ครูเขียนหรือ highlight รูปบนหน้าจอไปพร้อมกัน หรือ ครูสามารถที่จะเลือกให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งเขียน หรือ highlight รูปบนหน้าจอเพื่อโต้ตอบกลับมาให้ทุกคนเห็นพร้อมกัน ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่น Follow Me ยังไม่ได้นำไปใช้จริง เพราะต้องพัฒนาโปรแกรมให้มีความสมบูรณ์มากกว่านี้ เพื่อจะสามารถนำไปใช้งานได้จริง
นายสรไกร ไกรปุย กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแอพพลิเคชั่น Follow Me นั้นเป็นโปรแกรมที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้ในการเรียนการสอนที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเนื่องจากสามารถนำสิ่งต่างๆ มาสอนได้และมีการโต้ตอบกันได้ทั้งผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเรียนได้อย่างเหมาะสม
ติดต่อ:
038-102222