บอร์ดบีโอไอกระตุ้นลงทุนโครงการใหม่ในพื้นที่อุทกภัย เว้นภาษีโครงการลงทุนใหม่ ? โครงการขยาย ในนิคมฯ ปทุมธานี และอยุธยา

ข่าวทั่วไป Wednesday March 28, 2012 13:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--บีโอไอ บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย หวังดึงดูดให้เกิดการลงทุนรายใหม่ และกระตุ้นรายเดิมขยายการลงทุน ในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดอยุธยา ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการด้านภาษีสำหรับโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ และผู้ประกอบการรายเดิมยังคงลงทุน หรือขยายการลงทุนในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจะต้องเป็นกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ โครงการลงทุนใหม่ หรือโครงการขยายการลงทุนในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในเขต 1 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยจำกัดมูลค่าภาษีที่ได้รับยกเว้นร้อยละ 150 ของมูลค่าเงินลงทุน ขณะที่ โครงการลงทุนใหม่ หรือโครงการขยายการลงทุนในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในเขต 2 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยจำกัดมูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับยกเว้นร้อยละ 150 ของมูลค่าเงินลงทุน และได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี ภายหลังจากได้รับยกเว้นภาษีครบ 8 ปี นอกจากนี้ โครงการลงทุนใหม่ และโครงการขยายการลงทุน จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ทั้งเครื่องจักรใหม่หรือเครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศ อายุไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า ทั้งนี้ จะไม่ขยายเวลาการดำเนินการทุกขั้นตอน ยกเว้นกรณีมีเหตุสุดวิสัยจะพิจารณาผ่อนผันให้เป็นการเฉพาะ และจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2555 ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมแล้ว ได้แก่ มาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีวัตถุดิบได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยไม่ต้องชำระอากรขาเข้า และขยายเวลามาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย ซึ่งจะสิ้นสุด 31 ธ.ค.54 ออกไปอีก 6 เดือน จนถึง 30 มิ.ย. 55 และให้เพิ่มกำลังการผลิตได้ตามกำลังการผลิตจริงของเครื่องจักรที่นำมาทดแทนเครื่องจักรเดิม นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยเพิ่มเติม ซึ่งบอร์ดได้มีมติเห็นชอบเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2554 ได้แก่ มาตรการทั่วไปสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากอุทกภัย และมาตรการสำหรับนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ทั้งที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยกำหนดให้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปี 2555 แบ่งเป็น 1.กรณีลงทุนในจังหวัดเดิมที่ประสบอุทกภัย ให้ถือเสมือนเป็นโครงการใหม่ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี จำกัดวงเงินที่ได้รับยกเว้น ร้อยละ 150% ของเงินลงทุนใหม่ รวมกับวงเงินที่ได้รับยกเว้นของโครงการเดิมที่เหลืออยู่ ส่วนในกรณีย้ายไปลงทุนที่อื่น ถือเสมือนเป็นโครงการใหม่ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี จำกัดวงเงินที่ได้รับยกเว้นร้อยละ 100% ของเงินลงทุนใหม่ รวมกับวงเงินที่ได้รับยกเว้นของโครงการเดิมที่เหลืออยู่ 2. กลุ่มผู้ประกอบการที่มีสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้ที่เหลืออยู่ ซึ่งเดิมไม่มีการกำหนดวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้น ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากเดิม โดยหากสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลืออยู่ไม่เกิน 5 ปี ให้ได้ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม 3 ปี สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือมากกว่า 5 ปี - 6 ปี ให้ได้ ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม 2 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 อีก 2 ปี หากสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือมากกว่า 6 ปี - 7 ปี ให้ได้ ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม 1 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 อีก 4 ปี ในขณะที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือมากกว่า 7-8 ปี ให้ได้ลดหย่อนร้อยละ 50 อีก 5 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ