พบดินขาวเคโอลินไทยช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เคลือบไม้ผลกันโรคเครียดจากความร้อน ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช

ข่าวทั่วไป Wednesday March 28, 2012 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--วช. จากสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ การเจริญเติบโต การออกดอกและการติดผลของผลไม้ จึงมีการพัฒนาดินขาวเคโอลินจากเหมืองดินในประเทศไทยพ่นเป็นสารเคลือบให้กับไม้ผล เพื่อลดความเครียดจากสภาวะความร้อน และช่วยป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.ดร. คณพล จุฑามณี และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขยายผลต่อยอดงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาดินขาวเคโอลินเป็นสารเคลือบผล เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ควบคุมเพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรกโนส ในไม้ผลเศรษฐกิจ เพื่อลดอาการกิ่งไหม้ในฤดูร้อน และเพิ่มคุณภาพผลผลิต ผลการศึกษาพบว่า ดินขาวเคโอลินจากอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเมือง จังหวัดระนอง สามารถลดความเข้มของแสงได้มากที่สุด จึงได้นำมาพัฒนาเป็นสารเคลือบใบและผลในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และแก้วมังกร และเมื่อนำดินขาวเคโอลินจากอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มาทดลอง พบว่าตกตะกอนช้าที่สุดจึงนำมาทดสอบการสังเคราะห์แสงของมะม่วงในฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเข้มแสงและอุณหภูมิสูง ทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงของมะม่วงถูกยับยั้ง เมื่อนำไปเคลือบใบทำให้มีการสังเคราะห์แสงสูงขึ้น มะม่วงสามารถนำสารอาหารที่ได้ไปใช้ในการเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น โดยพบว่า เมื่อพ่นสารเคโอลิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถให้ผลผลิตรวมต่อต้นเพิ่มขึ้นได้และมีน้ำหนักรวมของผลต่อต้นเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้ผิวมะม่วงในระยะสุกมีสีเหลืองเพิ่มขึ้น และลดการเกิดโรคแอนแทรคโนสบนผิวมะม่วงในระยะผลสุก และเมื่อทดลองใช้ดินขาว เคโอลินเป็นวัสดุเคลือบผลในฤดูฝน พบว่า การพ่นสารเคโอลินทุกชนิดสามารถเก็บเกี่ยวผลมะม่วงได้มากขึ้นกว่าการไม่พ่นสาร และเมื่อพิจารณาการเกิดโรคแอนแทรคโนส พบว่า ในระยะก่อนการบ่มผลมะม่วงที่ได้รับการพ่นสารละลายดินขาวเคโอลิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะเกิดโรคแอนแทรคโนสบนผิวผลน้อยที่สุด และสามารถลดการเกิดราดำบนผิวใบ ในการศึกษากับแก้วมังกร พบว่า ดินขาวเคโอลินจากอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง สามารถลดอาการกิ่งไหม้ทั้งในระยะเริ่มต้นและระยะรุนแรงได้ดีที่สุดเช่นกัน เลขาธิการ วช. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ดินขาวเคโอลินเหมาะสมสำหรับการผลิตพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากสามารถลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและโรคพืช และไม่ควรพ่นดินขาวเคโอลินในวันที่มีแสงแดดน้อย เพราะสภาพอากาศดังกล่าวมีผลต่ออัตราการสังเคราะห์แสง และควรงดการพ่นเคโอลินในช่วงที่พืชออกดอก เพราะจะทำให้การผสมเกสรลดลง ส่งผลให้การติดผลลดลงได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ