กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--สคฝ.
สถาบันคุ้มครองเงินฝากจัดเต็ม...เดินหน้าโรดโชว์ให้ความรู้ ?การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้กับผู้ฝากเงิน?
นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ดำเนินการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่สถาบันการเงิน ผู้ฝากเงิน และสาธารณชนทั่วไป ตลอดจนเร่งสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจ และมีความเชื่อมั่นต่อระบบคุ้มครองเงินฝาก และมีแผนงานที่จะดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางหลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้นต่อๆ ไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้มีการประสานความร่วมมือกับ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น ทั้งนี้ แผนงานในปี 2555 นี้ จะได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ จังหวัดลำปาง อุบลราชธานี สงขลา เชียงราย ขอนแก่น เพชรบุรี ตรัง กาญจนบุรี อยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในหัวข้อเรื่อง ?การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้กับผู้ฝากเงิน? ซึ่งเนื้อหาสาระเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความสำคัญของการมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่ทำหน้าที่จ่ายเงินคืนให้ผู้ฝากตามวงเงินที่กำหนดอย่างรวดเร็วเมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ ตลอดจนการติดตามฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาในการสัมมนาและพบปะผู้ฝากเงินและหน่วยงานต่างๆ สิ่งที่ผู้เข้าร่วมอบรมสนใจสอบถามเป็นจำนวนมาก คือ ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ฝากเงินสามารถใช้เพื่อประกอบการพิจารณาความมั่นคงของสถาบันการเงิน ซึ่งได้แก่ ฐานะและผลการดำเนินงาน ทั้งจำนวนสินทรัพย์ เงินรับฝาก และผลกำไรสุทธิ ฐานะเงินกองทุน (BIS Ratio) สภาพคล่อง คุณภาพสินทรัพย์ซึ่งพิจารณาจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ทั้งในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเว็บไซต์ของสถาบันการเงินนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเมื่อปลายปีก่อน พบว่าพฤติกรรมการฝากเงินของผู้ฝากเงิน ส่วนใหญ่ไม่ได้กังวลใจในการลดวงเงินคุ้มครองมากนัก เพราะมีการเตรียมตัวและมีความเข้าใจและได้รับข่าวสารในด้านต่างๆ พอสมควร สำหรับรูปแบบการฝากเงิน ผู้ฝากเงินบางส่วนอาจมีการกระจายเงินฝากไปยังธนาคารอื่นๆ บ้าง ซึ่งความจริงผู้ฝากเงินก็ไม่ได้ฝากเงินเฉพาะในธนาคารเดียวอยู่แล้ว มีการแบ่งสัดส่วนเงินในการฝากกระจายไปยังวัตถุประสงค์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และยังพบว่าผู้ฝากเงินเริ่มมีความสนใจในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินมากขึ้น ให้ความสำคัญเรื่องภาพลักษณ์ และเรื่องผลตอบแทนที่ได้รับมากกว่าปัจจัยอื่นๆ
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผู้ร่วมสัมมนายังได้มีการร่วมซักถามแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในหลายประเด็น ได้แก่ วงเงินความคุ้มครองเงินฝาก ประเภทของเงินฝากที่อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครอง ระดับวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสม การคุ้มครองเงินฝากในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและหน่วยงานรับฝากเงินในรูปแบบอื่นๆ แนวทางการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน กลไกการกำกับดูแลและแนวทางการลงทุนของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดต่างๆของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือสนใจให้วิทยากรจากสถาบันฯ ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองเงินฝากในหน่วยงานของท่าน สามารถติดตามหรือเสนอความคิดเห็นได้ทาง www.dpa.or.th หรือ 02-272-0400