กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--กรมการแพทย์
นับจากวันก่อตั้งเมื่อ 10 มีนาคม 2485 จนถึงปัจจุบัน กับการก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 70 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีชื่อว่า “กรมการแพทย์” เป็น 70 ปีแห่งความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานด้านวิชาการเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน พิสูจน์ได้จากผลงานความสำเร็จของกรมการแพทย์ ทั้งในรูปแบบขององค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่นำมาใช้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ กว่า 70 ปีที่ผ่านมา
นายวิทยา บุรณะศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบนโยบายให้กรมการแพทย์ในโอกาสที่กรมการแพทย์ครบรอบ 70 ปี โดยกล่าวว่า “ขอถือโอกาสนี้มอบขวัญกำลังใจให้บุคลากรของกรมการแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารสุข มีกำลังใจ มีพลังในการทำงานและพัฒนาการในด้านดี เกิดประโยชน์กับประเทศชาติสูงสุด โดยเฉพาะการให้บริการทางการรักษาสุขภาพประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่เป็นเลิศ จึงขอให้กรมการแพทย์ได้เลือกสรรและพัฒนาบุคลากรมาดูแลและให้บริการการรักษาแก่ประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ทั้งความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีทางการรักษาที่ทันสมัย ตั้งแต่ระดับเจ็บป่วยน้อยจนถึงระดับทุติยภูมิ ที่มีรายละเอียดการรักษายากและซับซ้อน ครบทุกช่วงวัย และคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเฉียบพลัน โรคเรื้อรัง รวมทั้งการช่วยเหลือฉุกเฉินในภาวะวิกฤติต่างๆ ขอให้กรมการแพทย์ มุ่งมั่นทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเหมือนอย่างที่ผ่านมาตลอด 70 ปี และอีกก้าวต่อๆไป”
แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการทำงานของกรมการแพทย์ตลอด 70 ปี ที่ผ่านมาว่า กรมการแพทย์มุ่งมั่นในการพัฒนาวิชาการ ด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์อย่างไม่หยุดยั้ง ด้านศึกษาวิจัย ประเมิน และถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ทุกสาขา ดูแลและพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควบคู่ไปกับการเพิ่มภูมิความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน แก่บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางให้มีคุณภาพ ดูแลรักษาบริการวิจัย ประชาชนทุกระดับ ให้สามารถเข้าถึงบริการ การรักษาโรคเฉพาะทางชั้นสูงได้อย่างทั่วถึง ด้วยการดูแลเอาใจใส่จากหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์กว่า 40 หน่วยงาน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยผลงานและความสำเร็จจากหลายโครงการในหลายรอบปีที่ผ่านมาเช่น...
- โครงการ10,000ดวงใจ ปลอดภัยด้วยพระบารมี ของสถาบันโรคทรวงอก โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ด้วยการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ฟรี!! แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันไม่น้อยกว่า 10,000 ราย เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วยโรคหัวใจมีโอกาสให้ได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
- โครงการสวนหัวใจปิดเส้นเลือดเกินในเด็ก ถวายเป็นพระราชกุศล 84 ดวงของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมาหาราชินี โครงการนี้ได้จัดทำเนื่องในโอกาสมหามงคล 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อทำการสวนหัวใจผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเลือดเกินในเด็กจำนวน 84 ราย ซึ่งโรคนี้ พบมากเป็นอันดับ 2 ของโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด หากไม่ได้รับการรักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯของสถาบันทันตกรรม ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียมว่า “ข้าวอร่อย ด้วยการให้บริการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม แก่ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสฟรี เพื่อฟื้นฟูสุขภาพช่องปาก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- เทคนิคโวยต้า เทอราพี(Vojta Therapy)ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กับ รพ.กระดูกและข้อมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์กประเทศเยอรมณีเป็นเทคนิคเฉพาะทางกายภาพบำบัดเพื่อแก้ไขความพิการได้ตั้งแต่แรกเกิด ที่ทำการเร่งเร้าผ่านจุดเฉพาะบนร่างกายด้วยแรงกดและทิศทางที่เหมาะสมเพื่อให้มีการตอบสนองและพัฒนาไปสู่ทักษะการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน สามารถประยุกต์ใช้ได้กับผู้ป่วยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ อาทิเช่นเด็กสมองพิการ ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนล่าง อัมพาตทั้งตัว
- ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสินที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ด้วยการผ่าตัดเอากระดูกบริเวณที่เป็นมะเร็งออกทั้งหมด แล้วใส่กระดูกเทียมเข้าไปแทน ทำให้คนไข้มีอายุยืนยาวและไม่เป็นผู้พิการ นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการผ่าตัดย้ายเส้นประสาทแขน รวมทั้งการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการผ่าตัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางด้านโสด ศอ นาสิก (หู คอ จมูก)ของโรงพยาบาลราชวิถี โดยมีห้องผ่าตัดอัจฉริยะ และเป็นศูนย์การฝึกอบรมนานาชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดทางกล้อง เช่น การให้บริการผ่าตัดทางกล้องครบทุกสาขา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านจอประสาทตา เช่นการผ่าตัดจอประสาทตาได้อย่างครบวงจร รวมทั้งนวตกรรมป้องกันตาบอดจากเบาหวาน นับเป็นบริการที่สร้างชื่อเสียงให้กับ รพ.ราชวิถีในปัจจุบัน
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นสถาบันชั้นนำทางวิชาการและเทคโนโลยี ที่มีการให้บริการทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งอย่างครบวงจร และมีมาตรฐานระดับสากล มีศูนย์มะเร็งที่พร้อมให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคในประเทศ มีเครื่องฉายรังสีแบบเครื่องเร่งอนุภาพ (LINAC) เป็นเครื่องฉายรังสีเพื่อการรักษามะเร็งที่ทันสมัยและมีความถูกต้องแม่นยำมากและปลอดภัยสูที่สุดในปัจจุบัน ช่วยลดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ทุกระบบ
- สถาบันโรคผิวหนังสถาบันวิชาการทางการแพทย์เฉพาะทางชั้นสูงด้านโรคผิวหนังในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีคลินิกพิเศษเฉพาะโรคต่างๆ อาทิเช่น คลินิกรังสีชีววิทยา คลินิกสเก็ดเงิน คลินิกโรคเรื้อน คลินิกโรคผิวหนังในเด็ก และโรคพันธุกรรม และศูนย์เลเซอร์ผิวหนังที่ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าใครเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย และเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
- โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ศูนย์การแพทย์ชั้นนำระดับสากลทางด้านจักษุหรือดวงตาที่ได้รับการยกย่องทั้งในและต่างประเทศ ในเรื่องการผ่าตัดต้อด้วยการส่องกล้องและการผ่าตัดจอประสาทตา รวมทั้งการพัฒนาลูกตาเทียมสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ลูกตาเทียม โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติขึ้นรูปจากพลาสติกประเภทโพลีเอส ที่ผ่านการทดสอบในเรื่องความปลอดภัย
- รพ.นพรัตนราชธานี ศูนย์ดูแลผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (Burn Center) และบริการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) เป็นหน่วยงานเพียงหน่วยเดียวที่เชี่ยวชาญที่สุดด้านการดูแลทางไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อย่างครบวงจร รวมทั้งการบริการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องหรือ CAPD รวมทั้งการฝึกอบรมผู้ป่วยและญาติตลอดจนการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เพื่อติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
- วิกฤติมหาอุทกภัยปี 2554 ที่ผ่านมา กับภารกิจในการดูแลสุขภาพประชาชน นอกจากการจัดทีมผู้บริหารออกตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่น้ำท่วมแล้ว กรมการแพทย์ยังมีมาตรการรับมือเมื่อภัยวิบัติทวีความรุนแรงถึงขั้นที่โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการรักษาผู้ป่วยได้ ด้วยการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ไปยังสถานที่ปลอดภัยและให้สามารถรักษาตัวได้ การเปิดศูนย์กลางรับ-ส่งต่อผู้ป่วยจากพื้นที่น้ำท่วม หรือ DMS Referral Center” โดยมีโรงพยาบาลราชวิถีเป็นศูนย์กลางประสานงาน พร้อมเตรียมสถานที่รองรับผู้ป่วยไว้ที่ รพ.ราชวิถี การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมตามศูนย์พักพิง เปิดสายด่วน 1668 รับแจ้งปัญหาความเดือดร้อนของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือรับยาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้อาการของผู้ป่วยโรคเรื้อรังกำเริบ หรืออาจทรุดหนักจากการขาดยา การเร่งผลิตยาคุณภาพดีเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนผู้เดือดร้อนและทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนเพื่อช่วยรักษาโรคที่มากับน้ำ การเยียวยาจิตใจญาติผู้เสียชีวิตเตรียมพร้อมเคลียร์ห้องเย็นสำหรับการเก็บรักษาศพผู้เสียชีวิตจากพื้นที่ประสบอุทกภัยไว้เพื่อรอการฌาปนกิจหลังน้ำลดการจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์เพื่อเร่งฟื้นฟูหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ซึ่งได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม เป็นการพลิกฟื้นความพร้อมของการให้บริการทางการแพทย์ให้หน่วยงานในสังกัด ได้กลับมามีศักยภาพสามารถรองรับและให้บริการรักษาประชาชนได้ดังเดิม
กว่า 70 ปี ที่กรมการแพทย์ได้ดำเนินภารกิจอย่างมุ่งมั่น ในการพัฒนาคุณภาพทั้งงานบริการและงานวิชาการ ส่งผลให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ได้เข้าถึงการบำบัดรักษา ให้ได้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ติดต่อ:
สำนักงานเลขานุการกรม 0-25906081