TCELSจับมือจุฬาฯTPMA พัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมผลิตยารับมือ AEC

ข่าวทั่วไป Monday April 2, 2012 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--TCELS กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) เตรียมลงนามความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมผลิตยาของประเทศไทย ในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกำจร พลางกูร รองผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับประกาศกระทรวงสาธารสุข เรื่อง การกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาแผนปัจจุบันตามกฏหมายว่าด้วยยา พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2554 โดยจะให้เวลาสำหรับผู้ประกอบการรายเก่าในดำเนินการปรับตัวอีก 1 ปี ทั้งนี้ประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักเกณฑ์GMPของ Pharmaceutical Inspection Co-operation Schemes (PIC/S) ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในกรอบการเจรจา ASEAN Harmonization ซึ่งนอกจากนี้ กรอบการเจรจายังได้มีการกำหนดในส่วนของการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยกำหนดมาตรฐานชุดเอกสารการขึ้นทะเบียนตำรับยา (ASEAN Common Technical Dossier (ACTD)และ ข้อกำหนดด้านคุณภาพมาตรฐานของยา (ASEAN Common Technical Requirement (ACTR) ซึ่งสมาชิกทุกประเทศของASEAN ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงภายในปี 2015 “ปัจจุบันยาที่ใช้ในประเทศไทยสามารถผลิตได้ภายในประเทศราว 30% จากโรงงาน 170 แห่ง และอีก 70% มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมยามีโอกาสขยายรายการและปริมาณการผลิต แต่ในทางมาตรฐานและการวิจัยพัฒนา รวมทั้งการค้นคว้าหาตัวยาใหม่ ๆ จำเป็นต้องมีการยกระดับมาตรฐานการผลิตตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยา (อย.) ที่ยกระดับเป็นมาตรฐานสากล” รอง ผอ.TCELS กล่าว นายกำจร กล่าวว่า เรื่องมาตรฐานการผลิตยานั้นถูกผลักดันในหลายเวทีและหนึ่งในเวทีระดับโลกที่มีการผลักดันคือ APEC Life Science Innovation Forum โดยผู้ประสานงานของการประชุมคือ TCELS ได้สรุปผลการประชุมในรอบ 6 ปีว่าการประชุมในเวทีดังกล่าวมีการนำเรื่องการปรับมาตรฐานการผลิตและระบบคุณภาพของยาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Harmonization) เข้าหารือซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในประเทศในกลุ่มเอเปก รองศาสตราจารย์ ดร. พิณทิพย์ พงษ์เพ็ชร คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันการศึกษาซึ่งพันธกิจหลัก คือ การผลิตเภสัชกรที่มีความรู้ความสามารถในการผลิตและควบคุมคุณภาพของยาและเภสัชภัณฑ์ ทางคณะฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีส่วนร่วมกับ TCELS และ TPMA เพื่อการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมฯ ของประเทศ ให้เท่าทันองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านนี้ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศให้มีศักยภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล นายเชิญพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า ในฐานะของภาคเอกชนยินดีที่ได้เข้ามีส่วนร่วมในความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งจากการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ในปี 2015 อุตสาหกรรมผลิตยาของไทยต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศมีความสำคัญต่อประเทศในด้านการผลิตยาทดแทนการนำเข้ายาที่มีราคาแพง เป็นส่วนช่วยเหลือในการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่ใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นภาครัฐควรต้องหันมาให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมผลิตยา ภก.เชิญพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้ดำเนินการขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(BOI) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตยาได้รับการสนับสนุนเงินทุนมาใช้ในการปรับปรุงโรงงานเพื่อเข้าสู่ GMP ของ PIC/S ได้ แต่เนื่องจากการผลิตยาต้องอาศัยความรู้ ทักษะในวิชาชีพรวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการผลิตยาโดยเฉพาะเภสัชกรจึงต้องได้รับการอบรมเพิ่มเติมความรู้ตลอดเวลา ซึ่งการที่ได้มีความร่วมมือกับภาคการศึกษาก็จะเป็นการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการที่เป็นแหล่งความรู้กับนิสิต นักศึกษาที่จะป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยา ยิ่งได้มีโอกาสร่วมมือกับ TCELS ด้วย ก็ยิ่งเป็นการปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งแก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยาของประเทศให้พร้อมต่อสู้กับการแข็งขันมากขึ้น ติดต่อ: TCELS 02-6445499 ต่อ 142

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ