กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--หอการค้าไทย
หอการค้าไทย เผยผู้ประกอบการทั้งประเทศ 98% ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เฉพาะ 7 จังหวัดนำร่องกระทบทันที 40% ระบุ ยาม ก่อสร้าง หนักสุด จ่อปลดคนงาน หลังต้นทุนพุ่ง แนะรัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือ SMEs และฟังความเห็นผู้ประกอบการ
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผย ถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 ใน 7 จังหวัดนำร่องว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีการจ้างแรงงานตั้งแต่ 1-25 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 98% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้
เป็นอย่างมาก ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จ้างแรงงานเกิน 500 คนขึ้นไป มีไม่ถึง 1% ของสถานประกอบการทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี มีผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทันทีประมาณ 40% ส่วนจังหวัดอื่น ๆ แม้ขณะนี้จะยังไม่ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300แต่ก็ต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อถึง 1มกราคม 2556 ก็ต้องเป็นวันละ 300 บาทหมด ผลกระทบก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น
สำหรับ สัดส่วนการจ้างแรงงานของไทยในปัจจุบัน แบ่งเป็นภาคบริการ 24.72% ภาคเกษตร 38.24% ภาคอุตสาหกรรม 20.68% และภาคการค้า 16.40%
นายภูมินทร์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 ของรัฐบาล มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนที่เห็นด้วย ส่วนใหญ่เป็นพวกใช้แรงงานน้อย และใช้เครื่องจักรเยอะ การปรับขึ้นค่าแรงก็กระทบไม่มาก เพราะใช้เครื่องจักรทำงานแทน ส่วนพวกที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่จะอยู่ใน 98% เพราะการปรับขึ้นค่าแรง เป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างมาก ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถแรงงานให้สอดคล้องกับค่าแรงที่สูงขึ้นก็ยังไม่มีมาตรการหรือแนวทางอะไรชัดเจนที่จะช่วยให้เรื่องนี้ดีขึ้น
สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เช่น ธุรกิจดูแลรักษาความปลอดภัย (ยาม) เพราะส่วนใหญ่มีการทำสัญญากับผู้ว่าจ้างไว้แล้ว อาจจะเป็นสัญญาระยะ 3 ปี 5 ปี โดยคำนวณค่าแรงงาน ค่าบริการจัดการไว้เรียบร้อย แต่เมื่อค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ก็ไม่สามารถไปขอแก้ไขสัญญาการว่าจ้างได้ ก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ตรงนี้กระทบชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจก่อสร้าง ที่มีลักษณะการทำสัญญาว่าจ้างคล้ายๆ กัน เพราะในการเสนองาน ก็ได้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้แล้ว ทั้งค่าก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน แต่พอปรับขึ้นค่าแรง ก็ต้องรับภาระส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้ว่าจ้างได้ “พูดง่ายๆ SMEs ได้รับผลกระทบหมด ตอนนี้ถ้าใครอยากลดค่าใช้จ่าย ก็ต้องเอาคนออกอย่างบริษัทยาม บริษัทก่อสร้าง ถ้ารับภาระไม่ไหว ก็ต้องให้ออก แล้วไปเพิ่มปริมาณงานให้กับคนที่ยังอยู่”นายภูมินทร์ กล่าว
นายภูมินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอความกังวลต่อนโยบายในเรื่องนี้ของรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่หอการค้าไทยต้องการขอให้มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า “ต้องปรับขึ้น” การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขอให้เป็นไปตามกฎหมายผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งการพิจารณาที่ผ่าน ๆ มา ก็ไม่ได้มีการทบทวน และรัฐยืนยันที่จะต้องปรับขึ้น และข้อสุดท้าย ขอให้รัฐเพิ่มขีดความสามารถให้กับแรงงานเพื่อลดการสูญเสีย รัฐก็ยังไม่ตอบสนอง
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ยังคงยืนยันว่า การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แม้จะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงเอาไว้ แต่หากเกิดผลกระทบในวงกว้าง ก็ควรที่จะมีการพิจารณาทบทวน โดยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั้งหมด