ไทยออยล์คาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 2-6 เมย.55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 2, 2012 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ไทยออยล์ สถานการณ์ราคาน้ำมันวันที่ 26 - 30 มี.ค. 55 ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอีกครั้งหลังสหรัฐอังกฤษ และฝรั่งเศส เห็นว่าเป็นไปได้อย่างมากที่จะนำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้เพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ตลาดลดความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาสนับสนุนราคาน้ำมัน อาทิ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวแล้วอย่างแท้จริง การเพิ่มวงเงินช่วยเหลือของสหภาพยุโรป ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเยอรมนีที่ค่อนข้างดี การหยุดการส่งออกน้ำมันดิบในทะเลเหนือ เหตุการณ์ระเบิดแหล่งผลิตน้ำมันในซูดาน รวมถึงความคืบหน้าของแผนการขยายท่อส่งน้ำมันดิบ Seaway ในสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนพยุงราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 122.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับลดลง 1.81 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสปรับลดลง 3.85 เหรียญฯ มาปิดที่ 103.02 เหรียญฯ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ ประกอบด้วย - ผู้นำของสหรัฐอังกฤษ และฝรั่งเศสเห็นด้วยกับมาตรการนำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้ เพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำนักงานพลังงานสากลไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เนื่องจากการปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์นั้นต้องสำหรับกรณีภาวะน้ำมันขาดแคลน - ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 23 มี.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 7.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่เดือน ส.ค. 54 มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.6 ล้านบาร์เรล สาเหตุจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้หลังจากเกิดการล่าช้าของเรือขนส่งน้ำมันดิบในสัปดาห์ก่อนหน้า - ตลาดยังคงมีความเป็นห่วงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังตัวเลขจีดีพี ประจำไตรมาส 4/54 ที่ประกาศออกมาครั้งสุดท้ายขยายตัวที่ระดับ 3% เท่ากับที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ขณะที่จีดีพีของทั้งปี 54 ขยายตัวที่ 1.7% ลดลงจากปี 53 ที่ขยายตัว 3% ประกอบกับตัวเลขตลาดบ้าน ตลาดแรงงาน และความรู้สึกผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่แล้วออกมาค่อนข้างแย่ - ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค.กลับทำสถิติขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.54 ที่ 76.2 แต่ตัวเลขของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ดีนัก ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป รวมถึงมองว่ามีความเป็นไปได้ในการปล่อยเงินเข้าระบบ (QE3) รอบใหม่ด้วย - ด้านการประชุมสหภาพยุโรป ล่าสุดที่ประชุมเห็นชอบให้มีการรวมกองทุนช่วยเหลือชั่วคราว (EFSF) และกองทุนถาวร (ESM) เข้าด้วยกันและเพิ่มวงเงินของกองทุนช่วยเหลือดังกล่าวจาก 5 แสนล้านยูโรเป็น 7 แสนล้านยูโร โดยจะใช้วงเงินนี้ไปอย่างน้อยถึงกลางปี 55 โดยวงเงินใหม่นี้ส่วนหนึ่งจำนวน 2 แสนล้านยูโรจะใช้เป็นเงินกู้ที่ได้มีการอนุมัติให้กับกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสแล้ว - เศรษฐกิจเยอรมนีเองก็มีแนวโน้มว่าจะสดใสขึ้น โดยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ที่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 54 ประกอบกับตัวเลขการว่างงานที่ปรับลดลง ส่งผลให้คณะกรรมาธิการยุโรปออกมาคาดการณ์ว่าจีดีพีเยอรมนีปีนี้ 55 จะขยายตัวที่ 0.6% - อุปทานน้ำมันดิบโลกยังคงได้รับผลกระทบจากการปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบชนิด Forties ในบริเวณทะเลเหนือ ลง 60,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเกิดแก๊สรั่วไหล ขณะที่ซูดานและซูดานใต้กล่าวหาว่าการโจมตีของอีกฝ่ายส่งผลให้เกิดการระเบิดของแหล่งผลิตน้ำมันในซูดาน จึงทำให้ตลาดกังวลว่าการประชุมร่วมของผู้นำทั้งสองฝ่ายที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 เม.ย.นี้ จะไม่ประสบความสำเร็จ - ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสยังได้รับแรงหนุนจากแผนการขยายกำลังส่งของท่อส่งน้ำมันดิบ Seaway ที่เชื่อมระหว่างคลังน้ำมันในรัฐโอกลาโฮมากับโรงกลั่นน้ำมันในรัฐเท็กซัส จากกำลังส่งเริ่มแรกที่ 150,000 บาร์เรลต่อวัน ที่จะเปิดดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ไปอยู่ที่ 850,000 บาร์เรลต่อวัน ในกลางปี 2557 - ซาอุดิอาระเบียแสดงความเห็นว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกในปัจจุบันยังคงเพียงพอต่อความต้องการและย้ำว่าจะยังไม่ปรับเพิ่มกำลังผลิต เพียงแต่แสดงความพร้อมว่าสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้หากมีความต้องการ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในสัปดาห์นี้จะยังคงเคลื่อนไหวที่กรอบเดิมที่ 120 — 127 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวลดลงในกรอบ 100-108 เหรียญฯ โดยราคาน้ำมันจะยังคงถูกกดดันจากความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นที่ประเทศผู้บริโภคน้ำมัน ได้แก่ สหรัฐอังกฤษและฝรั่งเศส จะนำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง รวมทั้งการหารือร่วมของผู้นำของซูดานและซูดานใต้ในวันที่ 3 เม.ย. และการเจรจาระหว่างชาติมหาอำนาจทั้ง 6 กับอิหร่านในวันที่ 13 เม.ย.นี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยลดความกดดันของตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ ได้แก่ ซีเรีย ลิเบีย และอิรัก รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน และความคืบหน้าของการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้นหลังที่ประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรปเห็นชอบให้มีการขยายวงเงินช่วยเหลือ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง ปัจจัยที่น่าจับตามอง - ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต การใช้จ่ายภาคการก่อสร้าง ยอดคำสั่งซื้อของโรงงาน ดัชนีภาคการบริการ การจ้างงานนอกภาคเกษตร-ภาคเอกชน และอัตราการว่างงานของสหรัฐ และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงจีดีพีและดัชนีราคาผู้ผลิตสหภาพยุโรป - การเจรจาระหว่าง 6 ประเทศแกนนำหลักของโลกและอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 13 เม.ย. นี้ รวมทั้งอิหร่านจะยอมให้สำนักงานปรมาณูสากลเข้าตรวจสอบพื้นที่ตั้งโครงการนิวเคลียร์หรือไม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของชาติตะวันตกในการยอมเปิดเจรจาครั้งนี้ - สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้แก่ ไนจีเรีย ซีเรีย อิรัก เยเมน ลิเบีย และซูดานใต้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ