กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--อินเด็กซ์ ครีเอชั่น
งานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ ครั้งที่ 2 หรือ TICEF 2012 เริ่มการประชุมอย่างเป็นทางการแล้ว มีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ สถาบันการศึกษา และประชาชน เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่งกว่า 1,000 ราย หวังนำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาไทยต่อยอดสู่สากล ขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขนกูรูคนดังด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วทุกมุมโลก ร่วมเปิดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน มั่นใจประเทศไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ ครั้งที่ 2 (Thailand International Creative Economy Forum: TICEF 2012 ) ภายใต้แนวคิดหลัก คือ“จากนโยบายสู่การขับเคลื่อน : คุณค่าจากท้องถิ่นต่อยอดสู่สากล” หรือ Grand to Ground: Capturing Local Value Creating Global Impact ระหว่างวันที่ 26 — 27 มีนาคม 2555 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ประชาชนตระหนักรับรู้และเข้าใจในเศรษฐกิจสร้างสรรค์มากขึ้น ประกอบกับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
สำหรับการจัดงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ ครั้งที่ 2 นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญวิทยากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมเสวนา บรรยาย แบ่งปันประสบการณ์และให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน อาทิ นายเท็ตสึยากิ ฮิราโน่ ประธาน Hirano Design International, Inc., นายลาร์ส สเวนสัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด IKEA Thailand, ดร. เอ็ดนา โดส ซานโตส หัวหน้าโปรแกรมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD), นายจอห์น ฮอว์กิ้นส์ ประธานกลุ่มสร้างสรรค์และนักเขียนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชื่อดังจากอังกฤษ, นายกอร์ดอน สมิธ Chairman Emeritus of AUS, Inc. ,หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการบริหารเครือซีเมนต์ไทย เป็นต้น
“ในงาน TICEF 2012 มีผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งคนไทยและต่างชาติ ให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน โดยผู้ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ จะมีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากวิทยากรชั้นนำของโลกและผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศ โดยสามารถนำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาของไทยไปต่อยอดสู่สากลได้ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันหากประเทศไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องจะช่วยกระตุ้นสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะช่วยผลักดันประเทศไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า หัวข้อเสวนาแลกเปลี่ยนภายในงาน ประกอบด้วย 1. โลกาภิวัฒน์แห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2. งานสร้างสรรค์ไทยก้าวไกลสู่ระดับโลก 3. ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างมูลค่าด้วยฐานรากของพิรามิด 4. จับกระแสชีพจร ทิศทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในทศวรรษหน้า 5. ผสานช่องว่างแห่งการพัฒนาวิเคราะห์ความ ท้าทายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากนี้ภายในงานดังกล่าวยังมีนิทรรศการแสดงผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ เช่น ปตท., SCG, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, IKEA
อย่างไรก็ตามงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ ครั้งที่ 2 ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องเริ่มต้นในระดับท้องถิ่นและระดับปัจเจกบุคคล หรือชุมชนในการที่จะใช้ภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ รวมกับความเข้าใจในระบบตลาดโลก และความเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสร้างผลงานที่สร้างสรรค์ ซึ่งหากมีการผสมผสานที่ลงตัว มั่นใจว่าภูมิปัญญาและความสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่นจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่บริบทของระดับโลกได้