กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ 26 - 30 มี.ค. 55 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 0.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (W-O-W) อยู่ที่ระดับ 121.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 124.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 105.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซล ลดลง 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 136.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 137.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- ฝรั่งเศสเข้าร่วมประชุมกับอังกฤษและสหรัฐฯ เรื่องการระบายปริมาณน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ออกสู่ตลาด เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
- สำนักสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 มี.ค. 55 เพิ่มขึ้น 7.1 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 353.4 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล
- ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกคลายลง หลังทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการร่วมประชุมเรื่อง โครงการพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในวันที่ 13 เม.ย.นี้ ที่ประเทศตุรกี
- ธนาคารกลางไนจีเรียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาส 4/54 อยู่ที่ 2.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน (+2.2% Q-O-Q) เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบและท่อขนส่งที่ถูกก่อวินาศกรรมกลับมาดำเนินการ และโครงการนิรโทษกรรมแก่กลุ่มกองโจรโดยรัฐบาล ทำให้สถานการณ์ความมั่นคงในประเทศดีขึ้น
- อิรักรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 55 สูงสุดในรอบ 9 ปี อยู่ที่ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ. 55 ส่งออกน้ำมันดิบ 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- ซูดานใต้ระบุซูดานเหนือใช้เครื่องบินโจมตีแหล่งผลิตน้ำมัน ทำให้สหประชาชาติกังวลต่อสันติภาพระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ Reuter Survey คาดว่าอุปทานน้ำมันโลกอาจลดลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิต อาทิ ซูดานใต้ ซีเรีย ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ในระดับปกติ
- โรงกลั่นเกาหลีใต้ (กำลังการกลั่นรวม 2.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เริ่มกลับมาดำเนินการหลังปิดซ่อมบำรุง คาดว่าอัตราการกลั่นในเดือน เม.ย. จะอยู่ที่ระดับ 85% (+3.7% M-O-M)
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4/54 อยู่ที่ 3% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศติดตามและพร้อมดูแลเศรษฐกิจประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ตลาดแรงงานและอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
- ภาวะเศรษฐกิจยุโรปมีมุมมองเชิงบวก โดย Directorate General for Economic and Financial Affairs (DG ECFIN) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหภาพยุโรป (Consumer Sentiment) ในเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้น 1.2 จุด (M-O-M) มาอยู่ที่ -19.1 จุด และ นายกรัฐมนตรีอิตาลี นาย Mario Monti เห็นว่า สเปนจะสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจในประเทศ และไม่ลุกลามจนทำให้เศรษฐกิจ EU ไร้เสถียรภาพ
แนวโน้มราคาน้ำมัน เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นที่ส่งผลต่อภาคการส่งออก และอาจทำให้ผลผลิตในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีกิจกรรมภาคการผลิต (Purchasing Manager Index: PMI) ลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันจาก และ สำนักพลังงานสากล (International Energy Agency: IEA) คาดการณ์มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในปี 55 จะเพิ่มขึ้นจากปี 54 ประมาณ 25% อยู่ที่ระดับ 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ จีนเป็นเพียงผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านรายใหญ่รายเดียว ที่ยังไม่มีแผนลดปริมาณการนำเข้าดังกล่าว และ IEA ประมาณรายจ่ายค่าน้ำมันดิบของประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกในปี 55 ณ ระดับราคาน้ำมันปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% รวมอยู่ที่ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP โลก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.3% อยู่ที่ 3.4% อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันปริมาณสูงสุดในโลก ส่งสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน อีกทั้งดัชนีใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วสุดในรอบ 7 เดือน นอกจากนั้น ตุรกีมีแผนลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน 10% เพื่อสอดคล้องกับมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ในระยะสั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 121-126 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 102-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ให้จับตาการประชุมระหว่างอิหร่านกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางราคาน้ำมัน