กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--เอแบคโพลล์
เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัย เรื่อง ข้อเสนอเจรจาระหว่าง พล.อ.เปรม กับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในสายตาสาธารณชน กับ บันทึกเชิงนโยบายเพื่อจุดตั้งต้นของความปรองดองตามระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย เรื่อง ข้อเสนอเจรจาระหว่าง พล.อ.เปรม กับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในสายตาสาธารณชน กับ บันทึกเชิงนโยบายเพื่อจุดตั้งต้นของความปรองดองตามระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ชลบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,357 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 28 — 31 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 คิดว่าเรื่องการปรองดองกำลังเป็นเครื่องมือของการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 26.7 ไม่คิดเช่นนั้น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.4 คิดว่าคณะกรรมการปรองดองกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ ในขณะที่ร้อยละ 34.6 ไม่คิดว่าเป็น
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.0 ระบุว่าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาคิดว่า กลุ่มนักการเมืองมีความขัดแย้งแตกแยกกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 17.7 ระบุว่าในอดีตมีความปรองดองต่อกัน แต่หลังปี 2549 หรือหลังการยึดอำนาจทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกขึ้นมา และร้อยละ 2.3 ไม่มีความเห็น
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.6 คิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ร้อยละ 38.4 คิดว่าไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.4 คิดว่าควรปล่อยให้ความขัดแย้งในขณะนี้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ ร้อยละ 17.6 คิดว่า ควรมีการยึดอำนาจ
นอกจากนี้ ร้อยละ 38.3 ไม่เชื่อมั่นว่าการเจรจากันของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะทำให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ในขณะที่ร้อยละ 27.4 เชื่อมั่น และร้อยละ 34.3 ไม่แน่ใจ
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากอาจมองสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่าเป็นเรื่อง “ตัวบุคคล” จึงเสนอให้ไปเจรจากันระหว่าง พล.อ.เปรม กับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณนั้น ผลสำรวจชี้ชัดว่า การเจรจากันระหว่างตัวบุคคลไม่ได้ทำให้สาธารณชนเชื่อมั่นว่าจะเกิดความปรองดองขึ้น แต่การเจรจาอาจมีผลเป็นเพียงเรื่องของ “บรรยากาศหรือสีสรรทางการเมือง” เท่านั้น เพราะการปกครองแบบประชาธิปไตยในสังคมไทยพัฒนามาเกินกว่าที่คนสองคนจะคุยกันแล้วทุกอย่างจะจบลงได้ นอกจากนี้คนส่วนใหญ่มองว่ากระบวนการปรองดองกำลังกลายเป็นหนึ่งในปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ เพราะข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏให้สาธารณชนรับรู้ในกระบวนการปรองดองส่วนใหญ่มีเรื่องของตัวบุคคลและคณะบุคคลที่อาจกลายเป็นอคติหรือยากระตุ้นต่อมอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยให้ออกมาชุมนุมประท้วงเผชิญหน้ากันในที่สาธารณะ กระบวนการปรองดองอาจกลายเป็นเพียง “กระบวนการต่อรอง” เท่านั้น จึงมีข้อเสนอเป็นบันทึกเชิงนโยบายหนุนเสริมจุดตั้งต้นของความปรองดองให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมืองอย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้
ประการแรก ให้ทุกฝ่ายมุ่งไปที่ “ตัวปัญหา” มากกว่า “ตัวบุคคลหรือคณะบุคคล” โดยใช้ “ไม้นวม” กับตัวบุคคลหรือกลุ่มคน แต่ใช้ “ไม้แข็ง” กับตัวปัญหา กล่าวคือ ตัวปัญหาได้แก่ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม การเลือกปฏิบัติ การมีอภิสิทธิ์ การทุจริตคอรัปชั่น ความไม่เป็นประชาธิปไตย การฉีกรัฐธรรมนูญ การเผาบ้านเผาเมือง และความผิดในคดีอาญาต่างๆ เพราะถ้าแต่ละฝ่ายทั้งที่สนับสนุน และไม่สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร “แรงหรือจัดหนักจัดเต็ม” เพื่อชัยชนะของตน ก็อาจทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เดือดร้อน ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายเหล่านี้
ประการที่สอง ต้องใช้กลยุทธ์ “หันหน้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน” โดยไม่พยายามเคลื่อนไหวให้ฝ่ายของตนเองเป็นผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียว แต่เป้าหมายอยู่ที่การเข้าถึงข้อตกลงที่พึงพอใจร่วมกัน กลยุทธ์นี้จะช่วยให้ประเทศชาติไม่ต้องเสียเวลาและโอกาสของการเดินไปข้างหน้า และจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมีผลประโยชน์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมร่วมกันในอนาคต
ประการที่สาม น่าจะ “หยุดการตอบโต้ไปมา” ไว้ก่อน เพื่อเปิดทางเข้าสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน กลุ่มเคลื่อนไหวต้องมี “ความสมดุลทางจิต” ไม่มีอคติต่อตัวบุคคลหรือกลุ่มคนเพราะเหตุผลที่ว่า การกำจัดตัวบุคคลไม่ช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติไปได้ ดังนั้นทางออกคือ การฟังเหตุผลของกันและกันมากขึ้น รับรู้ในจุดยืน อุดมการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามให้มากขึ้น แสดงความเห็นด้วยกับข้ออ้างต่างๆ และเคารพแต่ละฝ่ายให้มากขึ้น ยอมรับความแตกต่างของกันและกันมากขึ้น
ประการที่สี่ แต่ละฝ่ายต้องสร้างสะพานแห่งสันติภาพเชื่อมระหว่างสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างสนใจหรือต้องการ ช่วยรักษาภาพลักษณ์ของกันและกัน รักษาอุดมการณ์ร่วมกัน รักษาความเชื่อความศรัทธาของกันและกันและช่วยกันทำให้เสมือนว่าต่างฝ่ายต่างได้รับชัยชนะด้วยกันทั้งนั้น
ประการสุดท้ายที่สำคัญสุดคือ ถ้าต่างฝ่ายต่างยังไม่ยอมต่อกัน ตามทฤษฎีแล้วแนะว่า “อย่าเร่ง” เพราะมันจะกลายเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจ เกิดการสูญเสียต่อคนส่วนใหญ่ แต่คนเฉพาะกลุ่มส่วนน้อยจะสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากสงครามกลางเมือง ทางออกคือ ต้องใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อยับยั้ง “ความเร่ง” และหันมาใช้อำนาจเพื่อให้ข้อมูลสาระความรู้แก่สาธารณชนให้เกิดการรับรู้ต่อจุดยืนและอุดมการณ์ความมุ่งมั่นของแต่ละฝ่าย แสดงให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าแต่ละฝ่ายจะไม่สามารถไปสู่ชัยชนะได้เพียงลำพังแต่จะต้องได้รับชัยชนะด้วยกันทุกฝ่าย ทุกฝ่ายคงต้องพยายามกันต่อไปเท่าที่เป็นไปได้เพราะเรื่องของการเมืองไม่ได้จบลงที่ความสำเร็จเสมอไปแต่ขอให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การเมืองเป็นกระบวนการที่ทำให้คนแต่ละคนและกลุ่มต่างๆ เข้าถึงข้อตกลงร่วมกันและปฏิบัติแนวร่วม เรียกว่า คอลเลคทีฟแอคชั่น (Collective Action) ถึงแม้ว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกันทั้งหมดในเป้าหมายของกิจกรรมนั้นๆ แต่เมื่อเป็นเรื่องของการเมืองจึงต้องการการเจรจาต่อรองและการประนีประนอมเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 30.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.9 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 4.5 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 30.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ